โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 10,102,739.73 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 10,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 10,102,739.73 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 10,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 200,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า จำเลยขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เพื่อออกหุ้นกู้ประเภทด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันระยะสั้น (6 เดือน) เพื่อนำเงินทุนมาหมุนเวียนในธุรกิจของจำเลย โดยจำเลยนำหุ้นกู้บางส่วนจำนำไว้แก่บริษัทหลักทรัพย์ ค. ซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์โดยชอบด้วยกฎหมาย มีเงื่อนไขว่าจำเลยจะชำระค่าหุ้นกู้และผลตอบแทนอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี ของมูลค่าหุ้นกู้ที่จำนำไว้แก่บริษัทดังกล่าว และยินยอมให้บริษัทดังกล่าวนำหุ้นกู้ที่จำเลยจำนำไว้ออกขายบุคคลอื่นโดยจำเลยยินยอมรับผิดต่อลูกค้าของบริษัทดังกล่าวในลักษณะเดียวกัน ต่อมาบริษัทดังกล่าวชักชวนให้โจทก์ลงทุนกับจำเลย เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2559 จำเลยเสนอขายในลักษณะขอต่อสัญญาหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันของจำเลยบางส่วนจำนวน 10,000 หน่วย มูลค่าหน่วยละ 1,000 บาท รวมเป็นเงิน 10,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ โดยบริษัทหลักทรัพย์ ค. เสนอส่วนลดของราคาหุ้นกู้ให้แก่โจทก์อัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี ของมูลค่าหุ้นกู้เพื่อเป็นค่าตอบแทนการเข้าซื้อหุ้นกู้ตลอดระยะเวลาที่ถือครองหุ้นกู้อยู่เป็นส่วนลด 313,934.67 บาท มีกำหนดระยะเวลาไถ่ถอนคืนภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2560 คงเหลือราคาหุ้นกู้ที่ต้องชำระให้จำเลย 9,733,155.53 บาท โจทก์ชำระราคาหุ้นกู้ครบถ้วนแล้ว และบริษัทหลักทรัพย์ ค. ได้สลักหลังใบหุ้นกู้พร้อมส่งมอบใบหุ้นกู้ให้แก่โจทก์ยึดถือไว้ เมื่อถึงกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้คืนและชำระผลตอบแทน จำเลยไม่สามารถดำเนินการไถ่ถอนหุ้นกู้ทั้งหมดให้แก่โจทก์ จำเลยขอขยายระยะเวลาไปอีกจนถึงวันที่ 14 กันยายน 2560 โดยจำเลยเพิ่มผลตอบแทนในระหว่างขยายระยะเวลาจากร้อยละ 6.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 7.5 ต่อปี ของมูลค่าหุ้นจำเลยชำระผลตอบแทนเป็นส่วนลดให้โจทก์ 183,554.09 บาท และบริษัทหลักทรัพย์ ค. ได้สลักหลังใบหุ้นกู้พร้อมส่งมอบใบหุ้นกู้ให้โจทก์ยึดถือไว้ ต่อมาเมื่อครบกำหนดวันที่ 14 กันยายน 2560 ตามระยะเวลาที่จำเลยขยายออกไป โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทำการไถ่ถอนหุ้นกู้และชำระผลตอบแทน แต่จำเลยเพิกเฉย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาที่ว่าโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อผู้รับโอนในใบหุ้นกู้ขณะยื่นฟ้องและไม่ได้ลงทะเบียนการโอนตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 53 การรับโอนหุ้นกู้ของโจทก์จึงไม่บริบูรณ์ตามกฎหมายไม่อาจใช้ยันจำเลยได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องชอบหรือไม่ เห็นว่า ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องดังกล่าวไว้ จำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยอ้างเหตุว่าจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น แต่เมื่อจำเลยฎีกาปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องดังกล่าวมาด้วย และคู่ความทั้งสองฝ่ายได้สืบพยานจนเสร็จสิ้นแล้วศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ เห็นว่า การโอนหุ้นกู้ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 51 บัญญัติว่า การโอนหุ้นกู้ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือที่ออกตามมาตรา 33 จะสมบูรณ์ต่อเมื่อผู้มีชื่อแสดงว่าเป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนคนสุดท้ายได้ส่งมอบใบหลักทรัพย์ดังกล่าวแก่ผู้รับโอนโดยลงลายมือชื่อสลักหลังแสดงการโอน บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวการโอนหุ้นกู้ย่อมสมบูรณ์เมื่อผู้โอนลงลายมือชื่อสลักหลังแสดงการโอนในใบหุ้นกู้และส่งมอบใบหุ้นกู้ให้แก่ผู้รับโอน เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ชำระเงินค่าหุ้นกู้ให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ ค. ครบถ้วนแล้ว และบริษัทดังกล่าวได้ลงลายมือชื่อสลักหลังใบหุ้นกู้พร้อมส่งมอบใบหุ้นกู้ให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอน แม้โจทก์จะไม่ได้ลงลายมือชื่อผู้รับโอนในใบหุ้นกู้ในขณะยื่นฟ้อง การโอนหุ้นกู้ดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว และพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 53 บัญญัติว่า ผู้รับโอนหุ้นกู้ผู้ใดประสงค์จะลงทะเบียนการโอนให้ยื่นคำขอต่อบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือนายทะเบียน แสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวมิได้มุ่งประสงค์บังคับโดยเด็ดขาดว่าหากไม่ลงทะเบียนการโอนแล้วหุ้นกู้จะโอนกันไม่ได้ ดังนั้น หากผู้รับโอนหุ้นกู้ไม่ประสงค์จะลงทะเบียนการโอนก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินการดังกล่าว การไม่ลงทะเบียนการโอนมีผลเพียงมิให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนใดหรือเงินปันผลแก่บุคคลที่มิได้ลงทะเบียนเป็นผู้ถือหลักทรัพย์ตามมาตรา 54 เท่านั้น แต่การโอนหุ้นกู้ย่อมกระทำได้เมื่อได้ดำเนินการตามมาตรา 51 ดังกล่าวข้างต้น เมื่อการโอนหุ้นกู้ระหว่างบริษัทหลักทรัพย์ ค. กับโจทก์ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายและมีผลสมบูรณ์ตามที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น ย่อมมีผลผูกพันจำเลย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามใบหุ้นกู้
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ