คดีสืบเนื่องจากผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องว่า ผู้ร้องอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 49 ประกอบมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 พิจารณาพยานหลักฐานที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้รวบรวมมา ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่า นายศุภชัย กับพวก เป็นบุคคลผู้มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดเกี่ยวกับการยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (3) (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2556 และมีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดฐานฟอกเงินตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน และทรัพย์สินจำนวน 2 รายการ ได้แก่ สิ่งปลูกสร้างอาคารบุญรักษา อาคาร ค.ส.ล. 6 ชั้น (อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก) และพื้นที่ที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถ กับสิ่งปลูกสร้างอาคาร ค.ส.ล. (อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก) จำนวน 1 อาคาร ปลูกสร้างอยู่บนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 101461, 101462 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ซึ่งยังมิได้ดำเนินการกับทรัพย์สินนี้ตามกฎหมายอื่นมาก่อน และหากดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทางแผ่นดินมากกว่า ทั้งมีเหตุผลที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินได้ตามนัยมาตรา 49 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และเนื่องจากเป็นกรณีที่มี สหกรณ์ ค. เป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 จึงขอให้ศาลทำการไต่สวนและมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของนายศุภชัยกับพวก จำนวน 2 รายการ ดังกล่าว รวมราคาประเมินทั้งสิ้นประมาณ 395,365,744.81 บาท พร้อมดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้นไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายแทนการสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 49 วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 อนึ่ง ในกรณีที่ศาลมิได้มีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหาย หรือกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหาย แต่ปรากฏว่ามีทรัพย์สินที่เหลือจากการนำไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหาย ก็ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 51 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 ต่อไป
ผู้คัดค้านทั้งเจ็ดยื่นคำคัดค้าน และขอให้ยกคำร้อง
ก่อนสืบพยานผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งเจ็ด ศาลชั้นต้นสอบผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้ความว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ที่ฝากเงินกับ สหกรณ์ ค. ผู้คัดค้านที่ 5
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน จึงให้เพิกถอนคำสั่งเดิมที่รับคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นไม่รับคำร้องคัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้เสียหายในความผิดมูลฐานคดีนี้หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่พิจารณาแล้ว เห็นว่า ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 49 วรรคหก แม้มีระเบียบคณะกรรมการธุรกรรม ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2559 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34 (5/1) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 และข้อ 2 (6) แห่งประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือการกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจของคณะกรรมการธุรกรรม ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2558 โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ในการประชุมครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบคณะกรรมการธุรกรรมว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 กำหนดความหมาย "ผู้เสียหาย" ตามมาตรา 49 วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ไว้แต่ระเบียบคณะกรรมการธุรกรรมดังกล่าวเป็นเพียงระเบียบของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินที่ออกเพื่อให้สำนักงานปฏิบัติ ไม่อาจนำมาพิจารณาถึงสิทธิของผู้เสียหาย ตามที่มาตรา 49 วรรคหก บัญญัติได้ ฉะนั้น เมื่อตามคำร้องขอของผู้ร้อง นายศุภชัย กับพวกมีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดเกี่ยวกับการยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 (3) (18) ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานแห่งคดีนี้ การที่ตามคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อ้างว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นสมาชิก สหกรณ์ ค. ผู้คัดค้านที่ 5 ได้ชำระเงินฝากสะสมหุ้นและเงินฝากออมทรัพย์แก่ผู้คัดค้านที่ 5 และได้รับความเสียหายที่ต้องสูญเสียเงินจากการกระทำความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญาของนายศุภชัยกับพวกตามที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอ ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ย่อมเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิด จึงเป็นผู้เสียหายในความผิดมูลฐานนี้ และมีสิทธิร้องคัดค้านขอให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ได้ แม้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้อ้างว่าเป็นผู้เสียหายในความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ หรือผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานดังกล่าวตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมา แต่เมื่อข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนเกิดขึ้นหรือไม่ หรือมีการกระทำความผิดมูลฐานใดเกิดขึ้นตามคำร้องขอของผู้ร้อง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมที่รับคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นไม่รับคำคัดค้าน และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานและไม่รับคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และให้ศาลชั้นต้นรับคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไว้พิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ