โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 5, 7, 47, 48, 69, 73, 74 พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 3, 4, 13, 17 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 72 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91, 92 ริบของกลางทั้งหมด เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสาม และนับโทษของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ สวอ.4/2562 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ สวอ.17/2562 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษและนับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (1), 73 วรรคสอง (1) พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีไม้หวงห้าม (ไม้พะยูง) แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้าม (ไม้พะยูง) อันยังมิได้แปรรูป จำคุก 1 ปี ฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี และฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 4 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 5 ปี 4 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 6 เดือน 20 วัน ริบของกลางทั้งหมด ยกคำขอส่วนที่ให้นับโทษต่อ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายในความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ดังนั้น ความผิดตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 และความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า หลังเกิดเหตุได้มีพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 มาตรา 4 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 โดยในมาตรา 7 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ บัญญัติให้ไม้ที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้ามอีกต่อไป เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า บริเวณที่เกิดเหตุคดีนี้อยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 6892 ของนางประทุมมา และโจทก์นำสืบถึงแหล่งที่มาของไม้พะยูงของกลางไม่ได้ ต้องถือว่าไม้ของกลางเป็นไม้ที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ของนางประทุมมา การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปและฐานมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกต่อไป ตามนัยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 นั้น เห็นว่า แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ได้มีพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 มาตรา 4 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง โดยบัญญัติให้ไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินไม่เป็นไม้หวงห้ามอีกต่อไป ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2562 ก็ตาม แต่คดีนี้จำเลย ให้การต่อสู้มาโดยตลอดว่า ไม้พะยูงของกลางมิใช่เป็นของจำเลย และไม่ทราบว่าเป็นไม้ของผู้ใด โดยจำเลยไม่เคยกล่าวอ้างหรือให้การต่อสู้คดีว่า ไม้พะยูงของกลางเป็นของจำเลยและเป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ของนางประทุมมา อีกทั้งในชั้นอุทธรณ์จำเลยก็ยังคงโต้เถียงว่าไม้พะยูงของกลางมิใช่เป็นไม้ของจำเลย มิได้กล่าวอ้างว่าเป็นไม้ที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ของนางประทุมมา อันจะเป็นผลทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ แต่อย่างใด นอกจากนี้ข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏชัดว่า ที่เกิดเหตุเป็นที่นาซึ่งจำเลยกับภริยาเป็นผู้เช่าทำนา และไม่ปรากฏตอไม้พะยูงใด ๆ อยู่ในที่เกิดเหตุ การที่จำเลยยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกาอ้างว่า ไม้พะยูงของกลางเป็นไม้ที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ของนางประทุมมา เป็นเหตุให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป และฐานมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากได้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ดังกล่าว ถือเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นอ้างเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย และเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ย่อมต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมานั้น เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลย