โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกันขนสุราจำนวน 1,512 ลิตรโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขนสุราจากเจ้าพนักงาน ตามพระราชบัญญัติสุราพ.ศ. 2493 มาตรา 4, 14, 38 ทวิ ฯลฯ จำเลยให้การปฏิเสธศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติสุรา ปรับคนละ 15,120 บาท จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2526 จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันขนสุรา (เบียร์)200 ลัง บรรจุขวด 2,400 ขวด จากอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาไปส่งให้แก่นายพันธ์ หรือนางกริบ นิลพันธ์ ที่ตลาดอำเภอระโนดจังหวัดสงขลา เมื่อเวลาประมาณ 16 นาฬิกา โดยมีใบอนุญาตขนสุราตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.4 กำกับไปกับสุราดังกล่าวด้วย ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยคงมีว่า เอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.4 เป็นใบอนุญาตขนสุราที่กำกับมากับสุราซึ่งจำเลยทั้งสามร่วมกันขนมาโดยชอบหรือไม่เห็นว่าตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 16 ได้กำหนดให้อธิบดีกรมสรรพสามิต มีอำนาจอนุญาตให้ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ขายสุราประเภทที่ 1 หรือประเภทที่ 2 ออกหนังสือสำคัญสำหรับการขนสุราออกจากสถานที่ขายสุราของตนได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด หนังสือสำคัญเช่นว่านี้ให้ถือเสมือนหนึ่งเป็นใบอนุญาตขนสุราดังกล่าวในมาตรา 14ตามเงื่อนไขนั้น ซึ่งต่อมาอธิบดีกรมสรรพสามิตก็ได้ออกประกาศกรมสรรพสามิตตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 มีใจความเกี่ยวกับการขนสุราที่ผลิตภายในประเทศ โดยอนุญาตให้ผู้รับอนุญาตขายสุราประเภทที่ 1 หรือประเภทที่ 2 หรือตัวแทนของผู้รับอนุญาตดังกล่าวมีอำนาจออกหนังสือสำคัญแบบ ส.1/42 และแบบ ส.1/42 ก. สำหรับขนสุราออกจากสถานที่เพื่อขายสุราของตนได้เฉพาะภายในเขตจังหวัดที่ตั้งร้านขายสุราของตนเท่านั้น หนังสือสำคัญทั้งสองแบบจะต้องนำไปประทับตราและลงลายมือชื่อ หรือประทับตราลายมือชื่อของเจ้าพนักงานสรรพสามิตก่อน สำหรับหนังสือสำคัญแบบ ส.1/42 ก. ซึ่งใช้สำหรับการขนสุราเป็นจำนวนรวม โดยยังไม่ทราบว่าจะแยกส่งให้แก่ร้านขายปลีกแห่งใดเท่าใดนั้นไม่เกี่ยวกับคดีนี้ คงมีปัญหาเฉพาะแบบ ล.1/42 ซึ่งประกาศดังกล่าวระบุให้มีสามตอน ตอนกลางสำหรับใช้ควบคุมกำกับไปกับสุราที่ขน ตอนปลายให้รวบรวมส่งเจ้าพนักงานสรรพสามิตตรวจสอบในวันสิ้นเดือน ส่วนตอนต้นที่ติดต้นขั้วให้เก็บรักษาไว้เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพสามิตตรวจสอบเมื่อต้องการ เห็นว่าหนังสือสำคัญแบบ ส.1/42 นี้ ทางราชการกรมสรรพสามิตได้มอบให้แก่ผู้รับอนุญาตขายสุราประเภทที่ 1 หรือประเภทที่ 2 เพื่อให้บุคคลดังกล่าวหรือตัวแทนมีอำนาจออกหนังสือสำคัญดังกล่าวสำหรับขนสุราออกจากสถานที่ขายสุราของตนได้ และหนังสือสำคัญเช่นว่านี้ให้ถือเสมือนหนึ่งเป็นใบอนุญาตขนสุรา ดังนั้นการออกหนังสือสำคัญในแบบ ส.1/42 จะต้องกรอกข้อความตามความเป็นจริง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบของเจ้าพนักงานสรรพสามิตดังกล่าวข้างต้น จึงจะถือว่าได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพสามิตกำหนด ตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติสุรา มาตรา 16 อันจะมีผลให้หนังสือสำคัญนั้นถือเสมือนหนึ่งเป็นใบอนุญาตขนสุราตามมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว นอกจากนั้นการที่ต้องกรอกข้อความในแบบ ส.1/42 ตามความเป็นจริง ยังเพื่อประโยชน์ของรัฐในการจัดเก็บภาษีสรรพากรดังคำเบิกความของนายเจริญ ปรพันธ์ พยานจำเลยซึ่งเป็นสรรพสามิตจังหวัดสงขลาด้วย ดังนั้นการที่จำเลยขนสุรา (เบียร์) จากอำเภอหาดใหญ่ มาส่งให้นายพันธ์ นางกริบ นิลพันธ์ แต่ใบอนุญาตขนสุราตามแบบ ส.1/42 เอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.4 กลับระบุชื่อผู้ซื้อเป็นนายเส็ง นายประสิทธิ์ นายวิชิตและนายมิตร ตามลำดับโดยไม่ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวอยู่ที่ใด จะมีตัวตนจริงหรือไม่เช่นนี้จึงถือไม่ได้ว่าใบอนุญาตดังกล่าวเป็นใบอนุญาตขนสุรา (เบียร์)ที่จำเลยทั้งสามขนมา และแม้จะฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยซื้อเบียร์จำนวน 2,400 ขวด จากห้างหุ้นส่วนจำกัดปักษ์ใต้ทวีกิจ และนายณรงค์ได้ออกใบอนุญาตขนสุราโดยเขียนชื่อผู้ซื้อซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้บอกตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.4 ดังที่จำเลยนำสืบการกระทำดังกล่าวก็เป็นการกรอกข้อความในการออกหนังสือสำคัญในแบบ ส.1/42 ไม่ตรงกับความเป็นจริง ถือว่าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพสามิตกำหนด จึงไม่มีผลให้หนังสือสำคัญในแบบส.1/42 ตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.4 ถือเสมือนหนึ่งใบขนสุรา (เบียร์)ของกลางที่จำเลยทั้งสามร่วมกันขนมาที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น"
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น