โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและในศาลชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลย เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า หนี้ตามฟ้องนั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนหรือไม่ และโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้นั้น โจทก์อ้างว่าเป็นหนี้ค่าเงินยืมเพื่อทดรองจ่ายในกิจกรรมส่งเสริมการขาย 31,000,000 บาท และค่าสินค้าที่สั่งซื้อซึ่งจำเลยค้างชำระแก่โจทก์ 343,976,286.27 บาท รวมเป็นเงิน 374,976,286.27 บาท โดยโจทก์แนบหนังสือข้อตกลงการจ่ายเงินทดรองและสำเนาใบส่งของ/ใบกำกับภาษีพร้อมรายการสรุปเอกสารแนบท้ายคำฟ้องมาพร้อมกับฟ้อง ซึ่งหนังสือข้อตกลงการจ่ายเงินทดรองมีการระบุจำนวนเงินยืมเพื่อทดรองจ่ายในกิจกรรมส่งเสริมการขายและข้อตกลงที่จำเลยจะคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ไว้อย่างชัดเจน ส่วนสำเนาใบส่งของ/ใบกำกับภาษีก็มีการระบุชื่อจำเลยเป็นลูกค้าโดยมีรายการสินค้าและจำนวนเงินค่าสินค้าที่ส่งมอบในแต่ละครั้ง ข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยที่ว่าจำเลยไม่ได้เป็นหนี้ตามรายการที่โจทก์ฟ้องล้วนขัดต่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏในเอกสารจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ค่าเงินยืมเพื่อทดรองจ่ายในกิจกรรมส่งเสริมการขายและค่าสินค้าที่จำเลยสั่งซื้อจากโจทก์ ซึ่งเป็นหนี้ที่สามารถกำหนดจำนวนได้แน่นอน ส่วนที่จำเลยอ้างว่าโจทก์และจำเลยเป็นหุ้นส่วนกันและจำเลยอาจใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ได้ นั้น กรณีดังกล่าวหาทำให้หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องซึ่งเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนแล้วกลับกลายเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนอีกไม่ อีกทั้งหนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ที่นำมาฟ้องเป็นคดีล้มละลายได้โดยไม่จำต้องฟ้องเป็นคดีแพ่ง หรือให้ศาลในคดีแพ่งมีคำพิพากษาก่อน เนื่องจากพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 (3) บัญญัติเพียงว่า หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน มิได้บัญญัติว่าหนี้นั้นศาลจะต้องมีคำพิพากษากำหนดจำนวนให้แน่นอนเสียก่อนแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยล้มละลายได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 (3) ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวและกรณีมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้วสองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ ข้อนำสืบของโจทก์ดังกล่าวถือว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8 (9) แล้ว จำเลยมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว ที่จำเลยนำสืบและฎีกาว่า หนี้ตามฟ้องโจทก์มีเพียง 374,976,286.27 บาท แต่จำเลยมีทรัพย์สินและลูกหนี้การค้า รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 395,966,852.38 บาท เพียงพอที่จะชำระหนี้ตามฟ้อง จำเลยจึงไม่ได้มีหนี้สินล้นพ้นตัว นั้น เห็นว่า เมื่อพิจารณาทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องที่จำเลยอ้างว่าจะได้รับ ประกอบกับข้อฎีกาของจำเลยเกี่ยวกับทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องแต่ละรายการตามที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าว โดยเฉพาะเงินฝากในบัญชีธนาคารที่จำเลยฎีกาว่า ณ วันที่โจทก์ฟ้องคดีมีจำนวน 106,597,160.68 บาท แม้เอกสารดังกล่าวบางฉบับเป็นสำเนาเอกสาร บางฉบับเป็นรายการเดินบัญชีซึ่งพิมพ์จากระบบคอมพิวเตอร์ตามที่โจทก์แก้ฎีกามาก็ตาม แต่จำเลยก็ได้แนบเอกสารฉบับที่เจ้าหน้าที่ธนาคารรับรองมาท้ายคำแถลงการณ์ปิดคดี ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยมีเงินฝากในบัญชีธนาคารจำนวนดังกล่าวตามที่จำเลยฎีกา อย่างไรก็ตามในส่วนยานพาหนะที่จำเลยฎีกาว่ามีมูลค่าทางบัญชี 5,964,127.24 บาท แต่มีมูลค่าที่แท้จริง 14,930,000 บาท และอ้างว่ามูลค่าทรัพย์สินที่ปรากฏในงบการเงินเป็นเพียงการแสดงมูลค่าทางบัญชีเท่านั้น ไม่ใช่มูลค่าทรัพย์สินที่ซื้อขายกันจริงตามท้องตลาด และตามปกติแล้วมูลค่าทางบัญชีจะน้อยกว่าราคาท้องตลาด นั้น นางสาวสุขกมล พยานจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า จำเลยประเมินราคาโดยเชิญศูนย์รถยนต์มาร่วมประเมินด้วย แต่จำเลยไม่มีพยานหลักฐานใดมาสนับสนุนว่าการประเมินราคาเป็นการประเมินโดยผู้ใดและใช้หลักเกณฑ์อย่างไรในการประเมิน ลำพังเอกสารที่จำเลยจัดทำขึ้นเองและสำเนาใบคู่มือจดทะเบียน ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่ายานพาหนะมีมูลค่าที่แท้จริงสูงกว่ามูลค่าทางบัญชีดังที่จำเลยอ้าง ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยมีสิทธิเรียกร้องให้บริษัท ส. ชำระค่าบริการจัดการจำนวน 29,161,564 บาท ซึ่งพยานจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ค่าบริการจัดการค้างรับตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 จำเลยได้ออกใบแจ้งหนี้ไปยังบริษัท ส. และมีการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายแล้ว ซึ่งเป็นใบสรุปรายการ ปรากฏรายการยอดยกมาก่อนวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 จำนวน 41,481,652 บาท จำเลยมิได้นำสืบเกี่ยวกับจำนวนเงินดังกล่าวว่าเป็นค่าบริการจัดการค้างรับเมื่อใด ทั้งไม่มีใบแจ้งหนี้แนบท้าย นอกจากนี้ตามใบสรุปรายการก็ปรากฏรายการบันทึกรับค่าบริการจัดการและปรับปรุงล้างค่าบริการจัดการค้างรับ ซึ่งจำเลยก็มิได้นำสืบถึงรายละเอียดดังกล่าวว่าเป็นการรับชำระหนี้รายการใดหรือเหตุใดจึงต้องปรับปรุงรายการ กรณีจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยมีสิทธิเรียกร้องให้บริษัท ส. ชำระค่าบริการจัดการจำนวน 29,161,564 บาท ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยมีค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าภาษีนิติบุคคล และค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่จำเลยรอเรียกคืน จำนวน 38,165,534.49 บาท ตามเอกสารหมาย ล.41 ถึง ล.45 นั้น เมื่อพิจารณาเอกสารดังกล่าวแล้ว เอกสารหมาย ล.41 เป็นเอกสารที่จำเลยชำระภาษีมูลค่าเพิ่มแก่กรมสรรพากรเนื่องจากตามแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ. 30 มีภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ มิใช่กรณีมีภาษีซื้อมากกว่าภาษีขายที่จะถือว่าจำเลยชำระภาษีไว้เกิน จำเลยจึงไม่มีสิทธิได้รับภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระไปคืนจากกรมสรรพากร ส่วนเอกสารหมาย ล. 42 และ ล.43 จำเลยมีเพียงสำเนาหน้าแรกของแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ภ.ง.ด. 50 มาแสดง โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนว่าจำเลยได้ยื่นแบบแสดงรายการดังกล่าวต่อกรมสรรพากรแล้วและมีสิทธิขอคืนภาษีจริง จึงไม่เพียงพอให้รับฟังว่าจำเลยมีสิทธิเรียกร้องให้กรมสรรพากรคืนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคล ส่วนเอกสารหมาย ล.44 และ ล.45 ก็มีเพียงรายการสรุปที่จำเลยจัดทำขึ้นมาเองโดยไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยมีสิทธิเรียกร้องที่จะเรียกคืนค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย เช่นกัน ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าเงินค่าภาษีที่จำเลยรอเรียกคืนตามเอกสารหมาย ล.41 ถึง ล.45 เป็นส่วนหนึ่งของค่าโปรโมชั่นส่งเสริมการขายที่โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระคืนแก่จำเลย หากจำเลยไม่ได้รับเงินคืนจากกรมสรรพากร โจทก์ก็ต้องรับผิดคืนเงินดังกล่าวให้แก่จำเลย เห็นว่า แม้จำเลยจะมีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย และโจทก์มีหน้าที่ต้องหัก ภาษี ณ ที่จ่าย แต่รายการภาษีดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อโจทก์ชำระค่าโปรโมชั่นส่งเสริมการขายไม่เกี่ยวข้องกับรายการภาษีที่จำเลยอ้างว่ารอเรียกคืนจากกรมสรรพากรตามเอกสารหมาย ล.41 ถึง ล.45 แต่อย่างใด พยานหลักฐานของจำเลยยังไม่เพียงพอให้รับฟังว่า จำเลยมีสิทธิเรียกคืนค่าภาษีจากกรมสรรพากรหรือจากโจทก์ และที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยมีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ชำระเงินค่าสนับสนุนหนี้สูญในอัตราร้อยละ 0.5 ของยอดขายทั้งหมด ค่าสินค้าชำรุดบกพร่องเสียหายและสินค้าดีที่ลูกค้าส่งคืนและจำเลยต้องสำรองจ่ายเงินให้แก่ลูกค้าแทนโจทก์ และค่าโปรโมชั่นส่งเสริมการขายรวมเป็นเงิน 195,477,916.61 บาท ปรากฏว่ารายการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของรายการที่จำเลยได้ฟ้องโจทก์เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.1855/2563 ซึ่งศาลยังไม่มีคำพิพากษาว่าโจทก์จะต้องชำระเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยหรือไม่ เพียงใด แต่ไม่ว่าจำเลยจะมีสิทธิหักกลบลบหนี้จำนวนดังกล่าวกับหนี้ตามฟ้องโจทก์หรือไม่ก็ตาม ทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องรายการอื่นซึ่งไม่ได้แยกวินิจฉัยให้นั้นมีมูลค่าหรือคิดเป็นจำนวนเงินไม่มาก แม้จะรับฟังว่ามีมูลค่าตามที่จำเลยอ้างรวมกับมูลค่าทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องที่ได้วินิจฉัยมาแล้วว่ารับฟังได้ก็มีจำนวนเงินรวมไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งหมด พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว พฤติการณ์ของจำเลยที่ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งยังจดทะเบียนเลิกบริษัท กรณีจึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน และไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่นตามฎีกาของจำเลยต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ