โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โฉนดเลขที่ 5602, 226และ 240 และปลูกบ้านอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 226 ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 240 อยู่ห่างไปทางทิศเหนือประมาณ 300 เมตร โจทก์ได้เข้าออกที่ดินโฉนดเลขที่ 240 โดยใช้ทางเดินผ่านที่ดินโฉนดเลขที่9780 และ 42334 ของจำเลย มีความกว้างประมาณ 1.25 เมตร มาเป็นเวลาประมาณ 30 ปี ไม่มีผู้ใดโต้แย้งขัดขวางแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2528 จำเลยได้นำสังกะสีมาตีปิดกั้นทางเดินดังกล่าวที่จะออกสู่ซอยปริยานนท์ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหายไม่อาจใช้ทางภารจำยอมนี้ได้ขอให้บังคับให้จำเลยเปิดสังกะสีที่ตีปิดเส้นทางออกมีความกว้าง 1.25 เมตร ถ้าไม่ยอมให้โจทก์ทำการเปิดสังกะสีได้เอง โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ให้จำเลยไปจดทะเบียนทางภารจำยอม หากไม่ยอมให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า จำเลยซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 9780 และ 42334มาจากนายเอม สุขเสมอ และนายเชิด ณ ป้อมเพชร จำเลยยอมรับว่าที่ดินของจำเลยทั้งสองแปลงเคยมีทางเดินอยู่ในที่ดิน แต่เป็นทางที่เจ้าของที่ดินต่างใช้ทางเดินในที่ดินของอีกคนหนึ่งโดยถือวิสาสะ เพราะที่ดินในบริเวณดังกล่าวเดิมมีสภาพเป็นสวน เจ้าของที่ดินต่างปลูกบ้านอาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อผู้เป็นเจ้าของที่ดินจะเข้าสู่ที่ดินของตนจะต้องเดินผ่านสวนคนอื่น เจ้าของที่ดินจึงปฏิบัติต่อกันโดยถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน มิได้ใช้ทางผ่านโดยมีเจตนาจะยึดถือเอาเป็นทางภารจำยอม แม้ทางที่อาศัยเดินผ่านที่ดินจำเลยทั้งสองแปลงมีมานานประมาณ 30 ปี โจทก์ก็ไม่ได้ภารจำยอม ต่อมาทางราชการตัดซอยปริยานนท์ โจทก์จึงเลิกใช้เส้นทางเดินผ่านที่ดินจำเลยมาใช้ซอยดังกล่าวเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี จึงไม่มีทางภารจำยอมของที่ดินโจทก์ในที่ดินของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยว่า ทางพิพาทเคยเป็นทางเดินในที่ดินของจำเลยมาก่อน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าทางพิพาทตกเป็นภารจำยอมโดยอายุความเพราะโจทก์ได้ใช้ทางพิพาทมากว่า 10 ปีแล้วหรือไม่ ซึ่งศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการที่โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางเดินมาตามที่ฟ้องนั้น โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางเดินมาด้วยหลักถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน โดยวิสาสะหาก่อให้เกิดภารจำยอมขึ้นไม่ และโจทก์ฎีกาในปัญหาข้อนี้ว่า โจทก์จำเลยมิได้เป็นคนรู้จักคุ้นเคยกัน โจทก์จึงใช้ทางพิพาทโดยเจตนาให้เกิดภารจำยอม มิใช่อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกันโดยวิสาสะ คดีนี้โจทก์นำพยานเข้าสืบรวม 3 ปาก ทั้งตัวโจทก์ คงมีเฉพาะตัวโจทก์เท่านั้นที่ยืนยันว่าโจทก์มิได้ใช้ทางพิพาทอย่างวิสาสะ แต่นายตุ๊ มีเดชพยานโจทก์คนหนึ่งกลับเบิกความว่า ที่มีการเดินผ่านร่องสวนของกันและกัน แต่ไม่มีการโต้แย้งคัดค้านกันนั้น เพราะต่างก็ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันจึงเจือสมกับที่จำเลยนำสืบ ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ตามข้อต่อสู้ของจำเลยว่า ทางเดินในที่ดินของจำเลยนั้นเป็นทางเดินที่เจ้าของที่ดินข้างเคียงต่างใช้เดินผ่านโดยหลักถ้อยทีถ้อยอาศัยกันโดยวิสาสะจึงหาก่อให้เกิดภารจำยอมไม่ การที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่ได้เดินอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกันโดยวิสาสะก็เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ โจทก์มิได้นำสืบแสดงให้เห็นข้อแตกต่างกว่าผู้อื่นแต่อย่างใด นอกจากอ้างว่ามิได้รู้จักคุ้นเคยกับจำเลยจึงไม่เป็นการวิสาสะเท่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าวยังรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์มิได้ใช้ทางพิพาทอย่างวิสาสะ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าทางพิพาทมิได้ตกอยู่ในภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ชอบแล้วโจทก์ฎีกาเป็นข้อสุดท้ายในปัญหาค่าฤชาธรรมเนียมว่าศาลชั้นต้นกำหนดค่าฤชาธรรมเนียมสูงเกินสมควรนั้น ศาลฎีกาตรวจสำนวนแล้วปรากฏว่าคดีนี้มีการนัดชี้สองสถานและนำสืบพยานโจทก์จำเลยรวมทั้งสิ้น15 นัด เป็นเวลานาน 1 ปีเศษ นับเป็นเวลาที่ทนายความต้องมาว่าความนานพอสมควร ประกอบกับคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นคดีสำคัญ ดังเห็นได้จากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่ห้ามอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท จึงเหมาะสมกับรูปคดีแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน.