คดีนี้ เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6295/2561 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยในสำนวนที่สองว่า จำเลยที่ 2 ตามลำดับ แต่คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองสำนวนตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 54, 55, 72 ตรี พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 14, 26/4, 26/5, 31 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำเลยทั้งสอง คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยทั้งสองออกจากเขตป่าและเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ และให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหาย 16,698,137.95 บาท แก่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ และให้การในคดีส่วนแพ่ง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง (เดิม) พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคสอง ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ (ที่ถูก มาตรา 9 (1) (2) (3), 108 ทวิ วรรคหนึ่ง) การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี และให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 500,000 บาท แก่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า ที่ดินที่เกิดเหตุเนื้อที่ 141 ไร่ 46 ตารางวา ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ซึ่งอยู่ในเขตป่าเลนประแสและป่าพังราด อันเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติและเป็นพื้นที่ป่าไม้ ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง นายธีรัตม์ หัวหน้าสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 1 (ระยอง) ร่วมกับพวกจับกุมจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ดูแลฟาร์มเลี้ยงกุ้งของจำเลยที่ 2 ในที่ดินที่เกิดเหตุ โดยแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และประมวลกฎหมายที่ดิน และนำตัวจำเลยที่ 1 มอบต่อพันตำรวจโทไพฑูรย์ พนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี พันตำรวจโทไพฑูรย์สอบคำให้การนายธีรัตม์และนายยงยุทธ ไว้ และสอบคำให้การจำเลยที่ 1 ไว้ จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในตอนแรก แต่หลังจากมีการสอบสวนเพิ่มเติม จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ต่อมาจำเลยที่ 2 เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ สำหรับจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุเพียง 43 ไร่ โดยเข้าใจว่าที่ดินที่ครอบครองทำประโยชน์อยู่เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) เลขที่ 210 ถึง 213 ที่ซื้อมาจากนายธเนศร์ มิได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุทั้ง 141 ไร่ 46 ตารางวา ตามฟ้อง การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงขาดเจตนา ย่อมไม่เป็นความผิดตามฟ้องนั้น ในเรื่องนี้โจทก์มีนายธีรัตม์และนายยงยุทธ ผู้ร่วมจับกุมจำเลยที่ 1 เบิกความทำนองเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา พยานทั้งสองกับพวกเข้าตรวจสอบที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งเป็นฟาร์มเลี้ยงกุ้งของจำเลยที่ 2 เนื้อที่ 141 ไร่ 46 ตารางวา มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดูแล ซึ่งอยู่ในเขตป่าเลนประแสและป่าพังราด อันเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ เนื้อที่ 139 ไร่ 1 งาน 3 ตารางวา และเป็นพื้นที่ป่าไม้เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 43 ตารางวา สภาพพื้นที่เป็นบ่อเลี้ยงกุ้งจำนวนหลายบ่อเต็มพื้นที่ โดยเป็นบ่อที่ใช้ทำประโยชน์และบ่อเลี้ยงกุ้งร้าง มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้นำชี้พื้นที่ที่เกิดเหตุทั้งแปลง ในวันที่เข้าจับกุม จำเลยที่ 1 นำแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) จำนวน 4 ฉบับ เนื้อที่รวมกันประมาณ 40 ไร่ มาแสดง นายธีรัตม์ตรวจสอบแล้วปรากฏว่าไม่ตรงกับแปลงที่ดินที่เกิดเหตุ จึงตรวจยึดที่ดินทั้งหมด 141 ไร่ 46 ตารางวา เห็นว่า นายธีรัตน์และนายยงยุทธพยานโจทก์ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีหน้าที่ในการตรวจสอบพื้นที่และจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการบุกรุกป่าชายเลน ป่าไม้ และป่าสงวนแห่งชาติ จึงเชื่อว่าเบิกความไปตามความจริงที่เกิดขึ้น พยานจำเลยทั้งสองปากนายธเนศร์ก็เบิกความรับว่า พยานเป็นผู้ขายที่ดินที่เกิดเหตุให้แก่จำเลยที่ 2 ทั้งแปลงเนื้อที่ 141 ไร่ 46 ตารางวา ในราคา 4,000,000 บาท โดยมีการส่งมอบเอกสารแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) จำนวน 4 ฉบับ เนื้อที่ 40 ไร่เศษ และทำหนังสือสละสิทธิครอบครองที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ทั้งสี่ฉบับ ให้แก่จำเลยที่ 2 จึงยิ่งทำให้น่าเชื่อว่า มีการขายที่ดินที่เกิดเหตุทั้งแปลงให้แก่จำเลยที่ 2 มิใช่ขายเฉพาะที่ดินเนื้อที่ประมาณ 43 ไร่ ที่จำเลยที่ 2 ครอบครองทำประโยชน์อยู่เท่านั้น ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า มีการทำหนังสือสละสิทธิครอบครองที่ดินเนื้อที่รวม 43 ไร่ แสดงว่าจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินจากนายธเนศร์เพียง 43 ไร่ ในราคา 4,000,000 บาท เพราะหากซื้อที่ดินที่เกิดเหตุทั้งแปลง 141 ไร่ 46 ตารางวา ราคาจะสูงกว่า 10,000,000 บาท นั้น เห็นว่า ที่มีการทำหนังสือสละสิทธิครอบครองที่ดินเนื้อที่ 43 ไร่ ก็น่าจะเป็นเพราะต้องการให้สอดคล้องกับจำนวนเนื้อที่ของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) เลขที่ 210 ถึง 213 ซึ่งที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) เลขที่ 210 ถึง 213 ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดว่าเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่เกิดเหตุ ดังนั้น การทำหนังสือสละสิทธิครอบครองที่ดินเนื้อที่ 43 ไร่ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่ามีการซื้อขายที่ดินที่เกิดเหตุกันเพียง 43 ไร่ ส่วนราคาขายที่ดิน 4,000,000 บาท ก็ไม่น่าจะเป็นราคาที่ต่ำเกินไป เพราะการซื้อที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ผู้ซื้อย่อมต้องรับความเสี่ยงที่จะต้องถูกจับกุมดำเนินคดี ดังนั้นหากผู้ขายขายในราคาสูงเช่นปกติทั่วไป ก็ไม่อาจจะหาผู้ซื้อได้ ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินจากนายธเนศร์ 141 ไร่ 46 ตารางวา ตามเนื้อที่ที่ดินที่เกิดเหตุแต่มีการครอบครองทำประโยชน์ 43 ไร่ ซึ่งเนื้อที่ที่ยังไม่ได้ทำประโยชน์คงอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 อาจนำมาใช้ประโยชน์ภายหลังได้ หากจำเลยที่ 2 ประสงค์จะซื้อที่ดินที่เกิดเหตุจากนายธเนศร์จำนวน 43 ไร่ โดยไม่ได้ซื้อที่ดินและรับมอบที่ดินที่เกิดเหตุส่วนที่เหลือ จำเลยที่ 2 ซึ่งซื้อที่ดินจากนายธเนศร์ตั้งแต่ปี 2554 ก็น่าจะต้องทำรั้วแสดงอาณาเขตที่ดินของตนเองไว้ว่าประสงค์จะครอบครองเพียงเท่านั้น แต่จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้ดำเนินการ ทั้งยังปรากฏว่า ที่ดินที่เกิดเหตุมีทางเข้าออกเพียงทางเดียว ดังนั้นบุคคลภายนอกคงไม่อาจเข้าไปในพื้นที่ได้ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า นายธีรัตม์แนะนำว่าจำเลยที่ 2 สามารถซื้อที่ดินที่เกิดเหตุในส่วนที่มีเอกสารสิทธิได้ และจำเลยที่ 2 เห็นว่านายธีรัตม์มิได้จับกุมนายธเนศร์ซึ่งเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์อยู่ในขณะนั้น ทำให้จำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยที่ 2 สามารถซื้อที่ดินที่เกิดเหตุที่จำเลยที่ 2 เข้าใจว่ามีเอกสารเป็นแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ได้นั้น เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงได้ความว่านายธีรัตม์ให้คำแนะนำว่าที่ดินที่เกิดเหตุเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่หากที่ดินบริเวณนั้นมีหลักฐานแสดงสิทธิในที่ดินก็สามารถซื้อที่ดินดังกล่าว พร้อมกับได้พรินต์แผนที่บริเวณดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ไปด้วย แสดงว่าพื้นที่ส่วนใหญ่บริเวณนั้นเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่จำเลยที่ 2 ก็ยังซื้อที่ดินจากนายธเนศร์ซึ่งวิญญูชนทั่วไปเมื่อได้มีคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่รัฐเช่นนั้น ก่อนจะซื้อที่ดินบริเวณนั้นควรจะต้องตรวจสอบจากสำนักงานที่ดินเสียก่อนว่าแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) เป็นเอกสารสำหรับที่ดินที่เกิดเหตุหรือไม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ทั้งสี่ฉบับ ก็มีข้อความระบุไว้ว่าที่ดินตั้งอยู่หมู่ที่ 4 แต่ที่เกิดเหตุอยู่หมู่ที่ 8 หากจำเลยที่ 2 พบเห็นดังนี้แล้วควรจะต้องเกิดข้อสงสัยว่าที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณที่เกิดเหตุหรือไม่ ซึ่งภายหลังเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 นำเอกสารแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ดังกล่าวไปตรวจสอบปรากฏว่า มีที่ดินอยู่บริเวณที่เกิดเหตุเพียง 2 ไร่ ข้อกล่าวอ้างของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 2 เป็นรายละเอียด ไม่ทำให้คำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดค่าเสียหายสูงเกินไป เนื่องจากจำเลยที่ 2 ครอบครองที่ดินเพียง 43 ไร่ และมิใช่ผู้บุกรุกแผ้วถางนั้น เห็นว่า จากคำวินิจฉัยข้างต้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ยึดถือครอบครองที่ดินเนื้อที่ 141 ไร่ 46 ตารางวา แต่ขณะถูกจับกุม จำเลยที่ 2 ทำประโยชน์ 43 ไร่ ซึ่งที่ดินส่วนที่เหลือที่ยังไม่ได้ทำประโยชน์ จำเลยที่ 2 อาจทำประโยชน์ในภายหลังก็ได้ แม้จำเลยที่ 2 มิใช่ผู้บุกรุกแผ้วถาง แต่จำเลยที่ 2 ก็ได้รับประโยชน์จากการใช้พื้นที่ดังกล่าวแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายจำนวน 500,000 บาท นั้นนับว่าเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เข้ายึดถือครอบครองป่าและป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุเนื้อที่ 141 ไร่ 46 ตารางวา โดยไม่มีสิทธิอันจะอ้างได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยที่ 2 จึงต้องออกไปจากที่เกิดเหตุ แต่ปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 คืนที่ดินที่เกิดเหตุให้แก่รัฐคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 43 ไร่ เท่านั้น โดยปัจจุบันมีการปลูกป่าทดแทนในที่ดินที่เกิดเหตุเนื้อที่ประมาณ 43 ไร่ ดังกล่าวแสดงว่า จำเลยที่ 2 คืนที่ดินที่เกิดเหตุให้แก่รัฐแต่เพียงบางส่วน ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 2 คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยที่ 2 ออกไปจากป่าและป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุจึงไม่ชอบ ปัญหานี้แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยที่ 2 ออกไปจากป่าและป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนแพ่งในชั้นฎีกาให้เป็นพับ