โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 1685, 2093 และ 2094 กับส่งมอบการครอบครองที่ดินทั้งสามแปลงคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากไม่ยอมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไป ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย 70,000 บาท แก่โจทก์ และค่าขาดประโยชน์เดือนละ 70,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินและส่งมอบที่ดินทั้งสามแปลงคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว มีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยและนัดฟังคำพิพากษา
โจทก์และจำเลยยื่นคำโต้แย้งคัดค้านคำสั่งให้งดสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินค่าขึ้นศาลรวม 20,000 บาท ศาลชั้นต้นยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาและจำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ และพิพากษายืนในเรื่องค่าขึ้นศาล ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงซึ่งพิจารณาได้ความว่า โจทก์และจำเลยเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายไพศาลกับนางซิวย่อง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาด้วยกัน 10 คน ขณะนายไพศาลมีชีวิตอยู่มีที่ดินหลายแปลง บางแปลงใส่ชื่อบุตรและคนอื่นเป็นเจ้าของแทน โดยที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1685 ใส่ชื่อโจทก์ไว้แทน ส่วนที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 2093 และ 2094 ใส่ชื่อนายเฉลิมเดช บุตรนายไพศาลแทน เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 นายไพศาลถึงแก่ความตาย ต่อมาวันที่ 6 มิถุนายน 2548 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายเฉลิมชัยและนายเฉลิมพรร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนายไพศาล วันที่ 30 สิงหาคม 2558 นายเฉลิมชัยและนายเฉลิมพรในฐานะผู้จัดการมรดกได้นัดประชุมทายาทโดยธรรมของนายไพศาลเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก ในวันนัดมีโจทก์และทายาททุกคนยกเว้นจำเลยมาประชุมโดยพร้อมกัน ที่ประชุมตกลงให้มีการจับฉลากแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนในสัดส่วนเท่า ๆ กัน ผลการจับฉลากโจทก์ได้ที่ดิน 3 แปลง ได้แก่ ที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 1685, 2093 และ 2094 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2562 นายเฉลิมชัยและนายเฉลิมพรในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 2093 และ 2094 ให้แก่โจทก์ จำเลยครอบครองทำประโยชน์โดยปลูกต้นยางพาราในที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 1685, 2093 และ 2094
พิเคราะห์แล้ว คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัดหรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าการแบ่งมิได้เป็นไปตามวรรคก่อน แต่ได้ทำโดยสัญญา จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ เว้นแต่จะมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ในกรณีเช่นนี้ให้นำมาตรา 850, 852 แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยประนีประนอมยอมความมาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนี้ เห็นว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ลักษณะ 4 หมวด 3 บัญญัติไว้โดยเฉพาะตามหลักกฎหมายดังกล่าวแบ่งได้ 3 วิธี กล่าวคือ 1) โดยทายาทต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัด ด้วยการแบ่งตัวทรัพย์ตามความยินยอมโดยตรงหรือโดยปริยายและต่างเข้าครอบครองตามทรัพย์มรดกที่ได้รับแบ่งนั้น กรณีนี้ไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ก็บังคับได้ 2) โดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งปันกันระหว่างทายาท กรณีเกิดจากทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกไม่อาจแบ่งตัวทรัพย์กันได้ การขายอาจตกลงกันว่าให้ประมูลกันระหว่างทายาท หรือประกาศขาย หรือถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ต้องนำคดีมาฟ้องเรียกให้แบ่งมรดกโดยขอให้ศาลพิพากษาให้แบ่งระหว่างเจ้าของรวมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 และ 3) การแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยสัญญาที่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ เช่นนี้ เมื่อโจทก์ยืนยันตามที่บรรยายฟ้องว่า นายเฉลิมชัยและนายเฉลิมพร ในฐานะผู้จัดการมรดกได้นัดประชุมทายาทโดยธรรมของนายไพศาลเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก ในวันนัดมีโจทก์และทายาททุกคนยกเว้นจำเลยมาประชุมโดยพร้อมกัน ที่ประชุมตกลงให้มีการจับฉลากแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนในสัดส่วนเท่า ๆ กัน เมื่อจำเลยไม่มาประชุม ที่ประชุมจึงมอบหมายให้นายเฉลิมพรเป็นผู้จับฉลากแทน ผลการจับฉลากโจทก์ได้ที่ดิน 3 แปลง ได้แก่ ที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 1685, 2093 และ 2094 เนื้อที่ 42 ไร่ 2 งาน 53 ตารางวา 8 ไร่ 2 งาน 60 ตารางวา และ 6 ไร่ 53 ตารางวา ตามลำดับ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2562 นายเฉลิมชัยและนายเฉลิมพรในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนที่พิพาท น.ส.3 ก. เลขที่ 2093 และ 2094 ให้แก่โจทก์ โดยจำเลยให้การปฏิเสธว่า เป็นการแบ่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยครอบครองทำประโยชน์แต่เพียงผู้เดียวย่อมมีสิทธิดีกว่าโจทก์อันเป็นการอ้างสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 เยี่ยงนี้ เมื่อการแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยนายเฉลิมชัยและนายเฉลิมพรในฐานะผู้จัดการมรดกนั้น มิชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ลักษณะ 4 หมวด 3 ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะตามหลักกฎหมายข้างต้น แม้นายเฉลิมชัยและนายเฉลิมพรในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่พิพาทให้แก่โจทก์แล้ว ที่พิพาทก็ยังเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งซึ่งจำเลยผู้เป็นทายาทด้วยกันย่อมมีส่วนกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทเท่ากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1745, 1746 และย่อมมีสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่พิพาทได้ตาม มาตรา 1360 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่อาจอ้างความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ กรณีตามคำฟ้องถือว่ายังไม่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของจำเลยต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ทั้งข้ออ้างอันเป็นหลักแห่งข้อหาตามฟ้องมิใช่เรื่องขอแบ่งมรดกในอันที่ศาลจะพิจารณาพิพากษาให้ได้ เพราะเป็นการเกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้องซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาจำเลยข้ออื่นอีก การให้สืบพยานโจทก์และจำเลยต่อไปหาเป็นประโยชน์แก่คดีแต่ประการใดไม่ ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์จำเลยและพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบด้วยเหตุปัจจัยและผลแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามชั้นศาลนอกจากที่สั่งคืนในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ