คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) เด็ดขาดเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2556
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ในมูลหนี้ตามสัญญาจำนำหุ้นเป็นเงิน 63,784,356.15 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 96 (3)
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วทำความเห็นว่า ลูกหนี้ทำสัญญาจำนำหุ้นของบริษัท จ. เป็นประกันการชำระหนี้กู้ยืมเงินระหว่างบริษัท ม. ผู้กู้ กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ก. เจ้าหนี้เดิมผู้ให้กู้ แต่เจ้าหนี้ไม่นำส่งรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีและเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงไม่อาจทราบได้ว่ามีการชำระหนี้กันครั้งสุดท้ายเมื่อใด แต่เมื่อมีการทำคำขอกู้เงินกับเจ้าหนี้เดิมครั้งสุดท้ายวันที่ 4 มีนาคม 2539 กำหนดชำระหนี้เป็นงวดรายเดือนทุกวันทำการสุดท้ายของเดือน จึงถือว่าวันที่สิ้นสุดของเดือนคือวันที่ 31 มีนาคม 2539 สัญญาจึงเลิกกันในวันดังกล่าว เจ้าหนี้เดิมสามารถบังคับสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2539 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในวันที่ 18 มิถุนายน 2557 จึงเลยกำหนดระยะเวลา 10 ปี หนี้ดังกล่าวจึงเป็นอันขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (3) ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ เห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 107 (1) (เดิม) แต่ไม่ตัดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดหุ้นของบริษัท จ. 1,000,000 หุ้น อันเป็นทรัพย์จำนำหลักประกันก่อนเจ้าหนี้อื่น ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหนี้ประธาน โดยมีเงื่อนไขว่าหากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากบริษัท ม. ลูกหนี้ชั้นต้น และ/หรือ ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนำอื่น และ/หรือ ได้รับชำระหนี้จากผู้ค้ำประกันไปแล้วเพียงใดก็ให้สิทธิเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในคดีนี้ลดลงเพียงนั้น
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ แต่ไม่กระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้ในการบังคับจำนำหุ้นบริษัท จ. 1,000,000 หุ้น ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
เจ้าหนี้ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2539 บริษัท ม. ทำคำขอกู้เงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ก. เจ้าหนี้เดิม 100,000,000 บาท ตกลงเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ชำระดอกเบี้ยเป็นงวดรายเดือนทุกวันทำการสุดท้ายของเดือน เพื่อเป็นหลักประกันผู้กู้ตกลงจำนำหุ้นธนาคาร อ. 52,400 หุ้น หุ้นบริษัท จ. 1,000,000 หุ้น หุ้นบริษัท ส. 1,508,000 หุ้น และหุ้นบริษัท ย. 3,155,500 หุ้น กับจัดให้นายธาตรี และนายวัฒนศักดิ์ เป็นผู้ค้ำประกัน และวันที่ 27 มีนาคม 2539 ลูกหนี้ทำสัญญาจำนำหุ้นบริษัท จ. 1,000,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท ซึ่งในวันทำสัญญาจำนำ หุ้นดังกล่าวมีมูลค่ารวม 13,500,000 บาท เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ของบริษัท ม. ต่อมาเจ้าหนี้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าวมาจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยซึ่งรับโอนสิทธิเรียกร้องนี้มาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ก. เจ้าหนี้เดิม
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าหนี้ว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า การขอรับชำระหนี้นั้น เจ้าหนี้มีหน้าที่นำพยานมาให้การสอบสวนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า หนี้ที่ขอรับชำระหนี้นั้นมีอยู่จริงและลูกหนี้ต้องรับผิดชำระหนี้ดังกล่าว คดีนี้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามสัญญาจำนำหุ้นที่ลูกหนี้นำมาจำนำไว้กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ก. เจ้าหนี้เดิม เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ของบริษัท ม. ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 96 (3) โดยขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ การที่จะพิจารณาว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนำซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์เป็นจำนวนเท่าใด จึงต้องพิจารณามูลหนี้ประธานเป็นสำคัญว่ามีเพียงใด และเจ้าหนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเท่าใด เพื่อกำหนดจำนวนเงินที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนำว่าต้องไม่เกินไปกว่าความรับผิดในต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยตามมูลหนี้ประธาน ดังนี้ แม้ว่าสัญญาจำนำเอกสารหมาย จ.5 จะระบุว่า ณ วันจำนำ หุ้นบริษัท จ. จำนวน 1,000,000 หุ้น มีมูลค่ารวม 13,500,000 บาท และลูกหนี้ตกลงชำระดอกเบี้ยตามสัญญาจำนำให้แก่เจ้าหนี้ในอัตราร้อยละ 21 ต่อปีก็ตาม แต่สัญญาจำนำดังกล่าวมิได้ระบุว่า หนี้เงินกู้ที่บริษัท ม. ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้อันเป็นหนี้ประธานนั้นมีเพียงใด ทั้งเจ้าหนี้ก็มิได้ส่งรายการความเคลื่อนไหวทางบัญชีเพื่อแสดงว่า ณ วันพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้เงินกู้จากบริษัท ม. เพียงใด คงมีเพียงสำเนาคำขอกู้เงิน ที่ระบุว่า เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2539 บริษัท ม. ขอกู้ยืมเงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ก. เจ้าหนี้เดิม จำนวน 100,000,000 บาท เท่านั้น ซึ่งเอกสารดังกล่าวไม่อาจกำหนดได้ว่า ณ วันพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด บริษัท ม. มีภาระหนี้ต่อเจ้าหนี้เท่าใด ประกอบกับบันทึกถ้อยคำพยานเจ้าหนี้ในชั้นสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เจ้าหนี้คงให้การเกี่ยวกับมูลหนี้ตามสัญญาจำนำหุ้นเท่านั้น โดยมิได้ให้การเกี่ยวกับมูลหนี้กู้ยืมเงินของบริษัท ม. เมื่อเจ้าหนี้มิได้นำสืบให้เห็นว่า มูลหนี้กู้ยืมเงินของบริษัท ม. อันเป็นมูลหนี้ประธานมีเพียงใด ศาลย่อมมิอาจพิพากษาให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในหนี้จำนำหุ้นอันเป็นหนี้อุปกรณ์ได้ เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้จำนำตามคำขอรับชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม การที่เจ้าหนี้ไม่มีพยานมาให้การสอบสวนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อันทำให้ศาลมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้นั้น ไม่ใช่เหตุที่ทำให้การจำนำระงับสิ้นไป สิทธิจำนำยังคงมีอยู่ หากเจ้าหนี้มีสิทธิบังคับเอาแก่ทรัพย์จำนำเพียงใด เจ้าหนี้สามารถบังคับจำนำในทางแพ่งต่อไปได้ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ