โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลักทรัพย์ต่าง ๆ รวมราคา ๓๒๒ บาทของนางสาวรัตนาไป ในเวลากลางคืน โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๖
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยลักทรัพย์ของผู้เสียหายไปจริง แต่การกระทำของจำเลยไม่เป็นกิริยาฉกฉวยเอาซึ่งหน้า พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ (๑) ให้จำคุก ๒ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นรับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยวิ่งราวทรัพย์ แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยลักทรัพย์ จะลงโทษจำเลยได้หรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ก็คือความผิดฐานลักทรัพย์นั่นเอง แต่เป็นลักษณะพิเศษไปจากลักทรัพย์ธรรมดา กล่าวคือต้องประกอบด้วยการฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ฉะนั้น แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษฐานวิ่งราวทรัพย์เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยลักทรัพย์แต่มิได้ใช้กิริยาฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ศาลย่อมลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ได้ ไม่เรียกว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังกล่าวในฟ้อง แต่ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ (๑) นั้น เกินคำขอเพราะโจทก์มิได้อ้างมาตรา ๓๓๕ มาในฟ้อง และความผิดตามมาตรา ๓๓๕ (๑)มีโทษหนักกว่ามาตรา ๓๓๖ วรรคแรก ที่โจทก์ขอเพราะมาตรา ๓๓๕ (๑) มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี ส่วนมาตรา ๓๓๖ วรรคแรก มิได้กำหนดอัตราโทษขั้นต่ำไว้ จึงควรลงโทษจำเลยตามมาตรา ๓๓๔ ซึ่งเป็นแม่บทฐานลักทรัพย์และมีอัตราโทษเบากว่า มาตรา ๓๓๖
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔ ให้จำคุก ๑ ปี ๓ เดือน