ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงและตีทำร้ายโจทก์ที่ 1 จนได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์จริง
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งการละเมิดนั้นหรือไม่ ปัญหานี้ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 มิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่าขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ยังเป็นผู้เยาว์ตามกฎหมาย กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429ที่บัญญัติให้บิดามารดาต้องร่วมรับผิดในผลที่ผู้เยาว์กระทำละเมิดด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น แต่ตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ที่ 3 หาได้ยกความข้อนี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไม่ จำเลยที่ 2 ที่ 3 คงให้การแต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะจำเลยที่ 1 บรรลุนิติภาวะแล้วมิได้อยู่ในอำนาจปกครองของจำเลยทั้งสองเท่านั้น ฉะนั้นตามคำให้การ จึงไม่มีประเด็นที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 จะนำสืบพิสูจน์ให้พ้นความรับผิด การนำสืบพยานของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 เรียนจบชั้นประถมปีที่ 7 นายทรงธรรม ประสมรอด ได้รับจำเลยที่ 1 ไปอยู่ในความปกครองดูแลแล้วจำเลยที่ 1 ได้ออกจากบ้านของนายทรงธรรม ประสมรอด หายตัวไปไม่กลับมาอยู่กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นทำนองนอกเหนือต่อการใช้ความระมัดระวังตามควรแก่หน้าที่ดูแล จึงเป็นการนำสืบนอกเหนือไปจากคำให้การไม่อาจรับฟังได้ ที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 อ้างในฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การต่อสู้ไว้ว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำของจำเลยที่ 1 เท่ากับต่อสู้คดีว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังแก่หน้าที่ดูแลแล้ว ย่อมนำสืบข้อนี้ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นเพียงคำให้การที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่มีส่วนพัวพันกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้เป็นอย่างเดียวกันกับการใช้ความระมัดระวังตามควรแก่หน้าที่ดูแลแต่อย่างใด ฉะนั้น จำเลยที่ 2 ที่ 3 ผู้เป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งการละเมิดนี้ด้วย"
พิพากษายืน