โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 525,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2560 โจทก์ติดต่อจองบ้านแบบ LUXURIA แปลง D1 ราคา 9,300,000 บาท และบ้านแบบ ALTUS แปลง D2 ราคา 7,000,000 บาท จากจำเลย โดยโจทก์ชำระเงินจองให้แก่จำเลย สำหรับบ้านพร้อมที่ดินแปลงแรกเป็นเงิน 300,000 บาท และแปลงที่ 2 เป็นเงิน 200,000 บาท ภายหลังจากทำสัญญาจอง โจทก์อ้างว่าจำเลยผิดสัญญาไม่แก้ไขพื้นไม้ พื้นบันได และขยายบันไดตามที่ตกลงกัน โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลย เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2561 และขอให้จำเลยคืนเงินจองแก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 22 มกราคม 2561 จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ พร้อมกับริบเงินจอง 500,000 บาท ของโจทก์ สำหรับปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อโจทก์หรือไม่ ศาลฎีกามิได้อนุญาตให้โจทก์ฎีกา ปัญหาดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีผู้บริโภคและข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีผู้บริโภคว่า จำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อโจทก์ แต่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อจำเลย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า สัญญาจองบ้านพร้อมที่ดินทั้งสองแปลงเป็นสัญญาสำเร็จรูป จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และมัดจำสูงเกินส่วน ศาลจะลดให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงได้หรือไม่ เห็นว่า การวินิจฉัยว่าสัญญาจองบ้านพร้อมที่ดินทั้งสองแปลงระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ คงต้องพิจารณาว่า สัญญาดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติอันอาจถือได้ว่าทำให้จำเลยได้เปรียบโจทก์ เป็นต้นว่า มีข้อตกลงให้โจทก์ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือให้สิทธิจำเลยบอกเลิกสัญญาได้โดยโจทก์ในฐานะคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ปฏิบัติผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ ดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคสาม หรือไม่ หากสัญญาจองบ้านพร้อมที่ดินทั้งสองแปลงระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่มีข้อความที่ก่อให้เกิดผลตามที่กล่าวมาแล้ว จะถือเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมย่อมมิได้ เมื่อสัญญาจองบ้านพร้อมที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อและที่อยู่ของผู้จอง แบบบ้านและราคาที่ตกลงซื้อขาย โพรโมชันที่โจทก์จะได้รับจากจำเลย รายการชำระเงินจองกับเงินทำสัญญาบ้านพร้อมที่ดินทั้งสองแปลง ระบุเป็นเงินจองรวม 200,000 บาท เงินทำสัญญารวม 300,000 บาท วิธีการชำระเงิน รวมไปถึงข้อตกลงให้จำเลยริบเงินที่โจทก์ชำระมาเสียทั้งหมดหากโจทก์เพิกเฉยไม่เข้าทำสัญญาภายในกำหนดเวลา อันเป็นรายละเอียดของสัญญาจองที่มีตามปกติทั่วไป มิได้มีข้อตกลงใดผูกมัดโจทก์ให้ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือให้สิทธิจำเลยบอกเลิกสัญญาได้โดยโจทก์มิได้ปฏิบัติผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ อันจะถือเป็นข้อที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ แม้ในการทำสัญญาจองบ้านพร้อมที่ดินทั้งสองแปลงระหว่างโจทก์กับจำเลยจะมีข้อตกลงให้โจทก์ต้องชำระเงินจองกับเงินทำสัญญารวมกันสูงกว่าที่ระบุในใบเสนอราคา แต่มิใช่ว่าใบเสนอราคากำหนดเงินจองและเงินทำสัญญาไว้เป็นจำนวนใดแล้ว คู่สัญญาจะปรับเปลี่ยนจำนวนเงินที่ต้องชำระให้แตกต่างเป็นอย่างอื่นไม่ได้ การชำระเงินจองและเงินทำสัญญาแก่กันเพียงใด ย่อมเป็นไปตามการแสดงเจตนาของคู่สัญญาเป็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับประเพณีทางการค้าขายที่คู่สัญญาจะตกลงให้มีการวางเงินจองและเงินทำสัญญาสูงกว่าเกณฑ์ที่ผู้จะขายกำหนดไว้ก็ย่อมกระทำได้มิได้มีข้อห้ามหรือข้อจำกัดใด ทั้งเงินจองที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยอันเป็นมัดจำ ซึ่งมีไว้เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา หาใช่เป็นการให้เปล่าแก่กัน หากโจทก์มิได้ประพฤติผิดสัญญา จำเลยย่อมไม่มีสิทธิริบไว้หรือยึดถือเพื่อตนโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งคืนให้แก่โจทก์ หรือจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนเมื่อมีการชำระราคาบ้านพร้อมที่ดินทั้งสองแปลงที่ซื้อขาย ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378 (1) ส่วนเงินทำสัญญาก็เป็นส่วนหนึ่งของราคาที่ต้องชำระให้แก่กัน ดังนั้น ลำพังข้อตกลงในสัญญาจองที่จำเลยให้โจทก์วางเงินจองเป็นมัดจำและเงินทำสัญญาสำหรับบ้านพร้อมที่ดินทั้งสองแปลง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 500,000 บาท สูงไปกว่าที่ระบุไว้ในใบเสนอราคา จึงยังไม่อาจกล่าวว่าเป็นข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูปที่ทำให้จำเลยผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป ได้เปรียบโจทก์คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร หรือมีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ต้องปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ อันต้องด้วยลักษณะของข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 ดังที่โจทก์ฎีกา เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายประพฤติผิดสัญญาต่อจำเลย ในส่วนของเงินมัดจำ 200,000 บาท จำเลยจึงชอบที่จะริบได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378 (2) และถึงแม้พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 7 จะบัญญัติว่า "ในสัญญาที่มีการให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ หากมีกรณีที่จะต้องริบมัดจำถ้ามัดจำนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้" แต่เมื่อพิเคราะห์ว่า บ้านพร้อมที่ดินทั้งสองแปลงที่จะซื้อจะขายกันเป็นบ้านตัวอย่างในโครงการ ซึ่งนางสาวพลอยนภัส พนักงานขายของจำเลยเบิกความว่า ราคาบ้านตัวอย่างในโครงการจะสูงกว่าราคาบ้านทั่วไปในโครงการ โดยราคาบ้านพร้อมที่ดินทั้งสองแปลงที่จะซื้อจะขายรวมกันแล้วเป็นเงินสูงถึง 16,300,000 บาท เงินจองซึ่งเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาของโจทก์และเป็นประกันความเสียหายให้แก่จำเลย อันเป็นมัดจำที่โจทก์ชำระรวม 200,000 บาท คิดคำนวณเป็นสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 2 ของราคาบ้านทั้งสองหลัง จึงมิได้สูงเกินส่วน ย่อมเป็นการชอบธรรมที่จำเลยจะริบมัดจำ 200,000 บาท ไปเสียทั้งสิ้นโดยไม่ต้องคืนให้แก่โจทก์ อย่างไรก็ดี สำหรับเงินทำสัญญาของบ้านพร้อมที่ดินทั้งสองแปลงที่จะซื้อจะขาย เป็นเงินรวม 300,000 บาท นั้น มิใช่มัดจำ หากเป็นการชำระราคาบางส่วน ซึ่งเมื่อเอกสารจองแบบย่อ กำหนดให้จำเลยมีสิทธิริบเงินที่โจทก์ชำระไว้ทั้งหมดได้ เงินในส่วนนี้ย่อมเป็นเบี้ยปรับ และหากสูงเกินส่วน ศาลย่อมลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียทุกอย่างของจำเลย ประกอบกับจำเลยมีสิทธิริบมัดจำ 200,000 บาท ดังที่วินิจฉัยข้างต้นและเหตุแห่งการผิดสัญญาของโจทก์เป็นผลให้จำเลยต้องสูญเสียโอกาสในการนำบ้านพร้อมที่ดินทั้งสองแปลงที่โจทก์จองไว้ออกจำหน่ายให้แก่บุคคลอื่นใดเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เบี้ยปรับ 300,000 บาท จึงนับว่าสูงเกินส่วน ศาลฎีกาเห็นสมควรปรับลดลงเป็นเงิน 30,000 บาท จำเลยจึงต้องคืนเงินส่วนนี้ให้แก่โจทก์ 270,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ตามมาตรา 7 ปรับเปลี่ยนโดยพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาเป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษามานั้น ศาลฎีกาคงเห็นพ้องด้วยในส่วนที่จำเลยไม่ต้องรับผิดคืนเงินจองอันเป็นมัดจำรวม 200,000 บาท ให้แก่โจทก์ แต่ไม่เห็นพ้องด้วยในส่วนที่ให้จำเลยริบเงินทำสัญญารวม 300,000 บาท ไว้เสียทั้งหมด ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 270,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ