คดีนี้ เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ คม.63/2562 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกจำเลยในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และเรียกจำเลยในคดีนี้ว่า จำเลยที่ 7 แต่คดีดังกล่าวสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 4, 6, 9, 10, 11, 13, 35, 52 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 3, 5, 6, 7, 8, 25 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 63, 64 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 209, 210, 310, 312, 312 ตรี นับโทษจำเลยที่ 5 และที่ 6 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 916/2561 ของศาลจังหวัดไชยา ริบของกลางทั้งแปดรายการดังกล่าว และให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายที่ 2 เป็นเงิน 14,845 บาท ผู้เสียหายที่ 8 เป็นเงิน 15,982 บาท ผู้เสียหายที่ 9 เป็นเงิน 25,352 บาท ผู้เสียหายที่ 10 เป็นเงิน 15,982 บาท ผู้เสียหายที่ 11 เป็นเงิน 25,352 บาท ผู้เสียหายที่ 12 เป็นเงิน 25,352 บาท ผู้เสียหายที่ 13 เป็นเงิน 25,352 บาท และผู้เสียหายที่ 14 เป็นเงิน 25,352 บาท
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 7 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ คม.46/2562 และ คม.47/2562 ของศาลชั้นต้น ขอให้นับโทษจำเลยที่ 7 ต่อจากโทษในคดีดังกล่าว
จำเลยทั้งเจ็ดให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งเจ็ดมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 6 (1) (2), 9 วรรคหนึ่ง, 10 วรรคหนึ่ง, 52 วรรคหนึ่งและวรรคสอง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 5 (1) (2) (3), 25 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 วรรคหนึ่ง, 210 วรรคหนึ่ง, 310 วรรคหนึ่ง, 312 ตรี วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 63 วรรคหนึ่ง, 64 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ฐานเป็นอั้งยี่ และฐานเป็นซ่องโจร เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 4 ปี ฐานค้ามนุษย์โดยร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปหรือโดยสมาชิกขององค์กรอาชญากรรมซึ่งกระทำแก่บุคคลอายุตั้งแต่สิบแปดปีขึ้นไปและบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ไม่ถึงสิบแปดปี ฐานร่วมกันโดยทุจริตรับไว้ จำหน่าย เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปซึ่งบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขัง ฐานร่วมกันนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร และฐานร่วมกันให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานค้ามนุษย์โดยร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปหรือโดยสมาชิกขององค์กรอาชญากรรมซึ่งกระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ไม่ถึงสิบแปดปี ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 52 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 9 ปี รวมจำคุกคนละ 13 ปี จำเลยทั้งเจ็ดให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 6 ปี 6 เดือน นับโทษจำเลยที่ 7 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ คม.46/2562 และ คม.47/2562 ของศาลชั้นต้น ริบของกลาง และให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายที่ 2 เป็นเงิน 14,845 บาท ผู้เสียหายที่ 8 เป็นเงิน 15,982 บาท ผู้เสียหายที่ 9 เป็นเงิน 25,352 บาท ผู้เสียหายที่ 10 เป็นเงิน 15,982 บาท ผู้เสียหายที่ 11 เป็นเงิน 25,352 บาท ผู้เสียหายที่ 12 เป็นเงิน 25,352 บาท ผู้เสียหายที่ 13 เป็นเงิน 25,352 บาท และผู้เสียหายที่ 14 เป็นเงิน 25,352 บาท คำขอให้นับโทษต่อในส่วนของจำเลยที่ 5 และที่ 6 ให้ยก (ที่ถูก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ)
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 7 เป็นพนักงานหน่วยงานของรัฐซึ่งต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 8 หรือไม่ เห็นว่า ในปัญหาดังกล่าวข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 7 เป็นพนักงานราชการ สังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 ปฏิบัติงานประจำวนอุทยานน้ำตกกะเปาะ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร อัตราเงินเดือน 14,300 บาท โดยจำเลยที่ 7 มีบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงลายมือชื่อเป็นผู้ออกบัตร แม้จะปรากฏตามฟ้องและเอกสารดังกล่าวว่า จำเลยที่ 7 ปฏิบัติงานประจำวนอุทยานน้ำตกกะเปาะในตำแหน่งคนงานไม่มีอำนาจหน้าที่พิเศษใด แต่ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยพนักงานราชการ พ.ศ. 2547 ลงวันที่ 13 มกราคม 2547 ออกตามความในมาตรา 11 (8) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ระบุความหมายของ "พนักงานราชการ" ไว้ในข้อ 3 ว่า หมายถึงบุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างโดยได้รับค่าตอบแทนจากงบประมาณของส่วนราชการ เพื่อเป็นพนักงานของรัฐในการปฏิบัติงานให้กับส่วนราชการนั้น โดยตามระเบียบดังกล่าว ข้อ 11 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า การจ้างพนักงานราชการให้กระทำเป็นสัญญาจ้างไม่เกินคราวละสี่ปีหรือตามโครงการที่มีกำหนดเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดไว้ โดยอาจมีการต่อสัญญาจ้างได้ ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมและความจำเป็นของแต่ละส่วนราชการ และข้อ 15 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า ส่วนราชการอาจกำหนดให้พนักงานราชการประเภทใดหรือตำแหน่งในกลุ่มงานใดได้รับสิทธิประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (1) สิทธิเกี่ยวกับการลา (2) สิทธิในการได้รับค่าตอบแทนระหว่างลา (3) สิทธิในการได้รับค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลางาน (4) ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง (5) ค่าเบี้ยประชุม (6) สิทธิในการขอรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (7) การได้รับรถประจำตำแหน่ง (8) สิทธิอื่น ๆ ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด อีกทั้งตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้มีอำนาจออกบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2542 (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2549 ออกตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 4 (16) และมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2542 ยังบัญญัติไว้ในมาตรา 3 กำหนดให้พนักงานราชการซึ่งมีวาระการจ้างไม่น้อยกว่าหนึ่งปีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีสิทธิขอออกบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้ เช่นนี้ โดยสภาพการจ้างงานและสิทธิประโยชน์ของพนักงานราชการตามที่กำหนดไว้ในระเบียบและกฎหมายดังที่กล่าวมา จึงมีลักษณะแตกต่างจากลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ พนักงานราชการจึงมิใช่ลูกจ้างชั่วคราว ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย หากแต่เป็นพนักงานของรัฐซึ่งถือว่าเป็นพนักงานหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 7 เป็นพนักงานหน่วยงานของรัฐ ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และพวกกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์และฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ จำเลยที่ 7 จึงต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 8 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยที่ 7 มิใช่พนักงานหน่วยงานของรัฐตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง การกระทำความผิดของจำเลยทั้งเจ็ดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์และได้มีการลงมือกระทำความผิดตามที่ได้สมคบกัน เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 9 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ต่างกระทงกัน และโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดฐานร่วมกันเอาคนลงเป็นทาส หรือให้มีฐานะคล้ายทาสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 312 ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องรวมกันมาในข้อเดียว เป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานค้ามนุษย์ด้วย แต่ศาลชั้นต้นไม่ได้ปรับบทลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 9 วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 312 เป็นการไม่ชอบ นอกจากนี้ สำหรับความผิดฐานค้ามนุษย์โดยร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปหรือโดยสมาชิกขององค์กรอาชญากรรมซึ่งกระทำแก่บุคคลอายุตั้งแต่สิบแปดปีขึ้นไปและบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ไม่ถึงสิบแปดปี โจทก์บรรยายฟ้องด้วยว่า จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันกระทำไปเพื่อให้ผู้เสียหายทั้งยี่สิบแปดที่ถูกพาเข้ามาหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรตกอยู่ในอำนาจของผู้อื่นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 10 วรรคสาม ซึ่งต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น การที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดในความผิดฐานนี้ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง ซึ่งต้องระวางโทษหนักกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้กึ่งหนึ่ง จึงไม่ชอบเช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและปรับบทลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดในความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 10 วรรคสาม ให้ถูกต้องได้ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งเจ็ด ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 และมาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งเจ็ดมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 6 (1) (2), 9 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 10 วรรคสาม, 52 วรรคหนึ่งและวรรคสอง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 5 (1) (2) (3), 25 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 วรรคหนึ่ง, 210 วรรคหนึ่ง, 310 วรรคหนึ่ง, 312, 312 ตรี วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 63 วรรคหนึ่ง, 64 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 สำหรับจำเลยที่ 7 ฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ให้ระวางโทษเป็นสองเท่าตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 8 จำคุก 8 ปี ฐานค้ามนุษย์โดยร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปหรือโดยสมาชิกขององค์กรอาชญากรรมซึ่งกระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ไม่ถึงสิบแปดปี ให้ระวางโทษเป็นสองเท่าตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง จำคุก 18 ปี ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ คงจำคุก 4 ปี ฐานค้ามนุษย์โดยร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปหรือโดยสมาชิกขององค์กรอาชญากรรมซึ่งกระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ไม่ถึงสิบแปดปี คงจำคุก 9 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 7 มีกำหนด 13 ปี นับโทษจำเลยที่ 7 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ คม.46/2562 และ คม.47/2562 ของศาลชั้นต้น ส่วนโทษของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์