โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดิน 1 แปลง เนื้อที่ 19 ไร่ อยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี มีอาณาเขตทิศเหนือจดทางเดินทิศใต้จดคลอง ทิศตะวันออกจดที่นาเกลือ และทิศตะวันตกจดที่ดินนายมิ่งตามสำเนาแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 8 ท้ายฟ้อง โจทก์ทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2514 มีพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ราษฎรใช้ร่วมกันในท้องที่ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี พ.ศ.2514 เนื้อที่ 2,681 ไร่ 68 ตารางวา มีอาณาเขตทิศเหนือจดคลองละมุ ทิศใต้จดคลองขโมย ทิศตะวันออกจดที่นาเอกชนและทิศตะวันตกจดทะเล จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับมอบที่ดินตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เพื่อนำไปจัดสรรหาผลประโยชน์ แต่นายจำนงค์ช่างรังวัดซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 รังวัดทำแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นว่าที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ถูกถอนสภาพนั้น ทิศเหนือจดคลองตาบ๊วย ซึ่งเป็นคลองที่ราษฎรขุดขึ้น โดยรังวัดไปไม่ถึงคลองละมุ ทำให้ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินข้างเคียงของที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินแปลงที่ออกพระราชกฤษฎีกาฯ นั้นเข้าไปอยู่ในเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ ด้วย ทำให้โจทก์ทั้งสองหมดสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าว ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาทมิใช่ที่สาธารณประโยชน์ ให้โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองเพียงผู้เดียวให้จำเลยที่ 1 แก้ไขแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ ตามฟ้องให้ที่ดินพิพาทอยู่นอกแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ ให้จำเลยที่ 2 คืนที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 19 ไร่ ให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยปราศจากภาระติดพัน
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ทั้งสองมิได้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินป่าฟืนชายทะเล ซึ่งแต่เดิมเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน มีอาณาเขตทิศเหนือจดคลองละมุ ทิศใต้จดทางเกวียนและป่าแสม ทิศตะวันออกจดที่นาเอกชน และทิศตะวันตกจดทะเล เนื้อที่ประมาณ 3,000 ไร่ จำเลยที่ 1 ทำแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ ตามฟ้องถูกต้องตามความเป็นจริง ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิใดๆ ในที่ดิน จำเลยที่ 2 เข้าครอบครองทำประโยชน์ที่ดินตามฟ้องแต่ผู้เดียวตั้งแต่ พ.ศ.2514 จนถึง พ.ศ.2533 เป็นเวลา 19 ปีแล้ว โจทก์ทั้งสองซึ่งอ้างว่า ถูกแย่งการครอบครองไม่ได้ฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ 1 ปี ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงขาดอายุความ
ระหว่างพิจารณาโจทก์ทั้งสองถึงแก่กรรม พลตำรวจตรีครรชิตและนางสาวทัศนีย์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 8 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2498 ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี พระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกันในท้องที่ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี พ.ศ.2514 และแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกานั้นไม่มีผลบังคับถึงที่ดินพิพาทดังกล่าว ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า "สำหรับประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องที่ศาลฟังว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทจึงมีอำนาจฟ้องนั้น จำเลยทั้งสองฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในประการแรกว่า สัญญาซื้อขายที่ดินทำขึ้นระหว่างโจทก์ทั้งสองกับนายแอบ จึงผูกพันเฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น หาได้ผูกพันมาถึงจำเลยทั้งสองไม่ ในข้อนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทจากนายแอบแล้ว โจทก์ทั้งสองได้มอบให้นายแอบครอบครองแทน แม้ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าซึ่งตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 9 จะโอนที่ดินมือเปล่าแก่กันมิได้ก็ตาม แต่ที่ดินมือเปล่านั้น เจ้าของมีสิทธิครอบครองได้และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1378 บัญญัติว่า การโอนไปซึ่งสิทธิครอบครองนั้น ย่อมทำได้โดยส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครอง ส่วนมาตรา 1380 วรรคหนึ่งก็ได้บัญญัติรับรองด้วยว่า การโอนไปซึ่งการครอบครองย่อมเป็นผลแม้ผู้โอนยังยึดถือทรัพย์สินอยู่ ถ้าผู้โอนแสดงเจตนาว่าต่อไปจะยึดถือทรัพย์นั้นแทนผู้รับโอนเมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาโต้แย้งในประเด็นว่า โจทก์ทั้งสองมิได้มอบหมายให้นายแอบครอบครองแทน เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดแล้วว่า โจทก์ทั้งสองได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทมาจากนายแอบโดยการโอนและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1378 และมาตรา 1380 วรรคหนึ่ง แล้ว ข้อกล่าวอ้างตามฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองจึงฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างสัญญาซื้อขายระหว่างนายแอบกับโจทก์ทั้งสองทำขึ้นโดยเจตนาลวงเพื่อฉ้อฉลบุคคลภายนอกนั้น แม้ว่ารายละเอียดของข้อเท็จจริงและเหตุผลที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างในฎีกาข้อนี้จะสอดคล้องกับข้ออ้างในคำให้การของจำเลยทั้งสองก็ตาม แต่ในชั้นพิจารณาจำเลยทั้งสองหาได้นำสืบพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างเช่นว่านี้ไม่ การที่จำเลยทั้งสองได้หยิบยกข้อเท็จจริงและเหตุผลเช่นว่านี้ขึ้นกล่าวอ้างในการอุทธรณ์ฎีกา จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบต้องห้ามมิให้จำเลยทั้งสองฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องฟังไม่ขึ้น
ส่วนประเด็นเรื่องสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสองนั้น ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยพยานหลักฐานโจทก์ทั้งสองชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบกับพยานจำเลยทั้งสองและฟังข้อเท็จจริงเชื่อตามพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยที่ประกอบชอบด้วยเหตุผล อีกทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็วินิจฉัยว่า ประเด็นข้อนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีการครอบครองมิใช่ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินและแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาฯคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง จำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่าที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาดังกล่าวไม่ชอบอย่างไร อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้จึงเป็นอุทธรณ์ไม่ชอบ และอุทธรณ์ข้อนี้ในตอนต่อมาเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงไม่รับวินิจฉัยให้ แต่ปรากฏว่าฎีกาของจำเลยทั้งสองในประเด็นข้อนี้ จำเลยทั้งสองก็หาได้โต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์แต่อย่างใด จำเลยทั้งสองคงกล่าวอ้างข้อเท็จจริงและเหตุผลโต้แย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิครอบครอง ฎีกาของจำเลยทั้งสองในประเด็นข้อนี้จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกัน
ประเด็นสุดท้ายเรื่องสิทธิฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองที่พิพาทซึ่งจำเลยทั้งสองฎีกาคัดค้านว่า โจทก์ทั้งสองต้องฟ้องเอาคืนการครอบครองภายใน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 นับแต่วันประกาศยกที่ดินที่มีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้แก่โจทก์ทั้งสอง (ที่ถูกให้แก่จำเลยที่ 2 ) คือภายในปี พ.ศ.2525 (ที่ถูก ภายในปี พ.ศ.2515) นั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง ที่บัญญัติให้ผู้ครอบครองซึ่งถูกแย่งการครอบครองต้องฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองนั้น เป็นบทบัญญัติที่กำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีเพื่อเอาคืนการครอบครองสำหรับกรณีที่ถูกแย่งการครอบครองเท่านั้น การที่จำเลยที่ 2 ดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนสภาพที่ดินสาธารณประโยชน์และทำแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา เป็นการกระทำตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ หาใช่เป็นการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทกับโจทก์ทั้งสองอันจะเข้าเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง ที่โจทก์ทั้งสองจะต้องฟ้องคดีเพื่อเอาคืนการครอบครองภายในกำหนด 1 ปี ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกากล่าวอ้างไม่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 8 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2498 ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี และพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกันในท้องที่ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี พ.ศ.2514 และแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ นั้น ไม่มีผลบังคับถึงที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ