โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิครอบครองร่วมกันในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ต่อมาจำเลยทั้งสองซึ่งมีที่ดินติดต่อกับที่ดินของโจทก์บุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์อ้างว่าเป็นที่ดินของบิดาจำเลยที่ 2 ยกให้ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาท ให้ส่งมอบที่ดินให้โจทก์ตามสภาพเดิมและให้ใช้ค่าเสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การและจำเลยที่ 2 ฟ้องแย้งว่า ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 2 ที่ดินพิพาทเดิมบิดาจำเลยที่ 2 ได้ครอบครองทำประโยชน์มีเนื้อที่ 50 ไร่ เมื่อบิดาถึงแก่กรรม จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับมรดกและได้ครอบครองทำประโยชน์ต่อมา จำเลยที่ 2 ย่อมได้สิทธิครอบครองที่พิพาท เพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครองและบังคับตามสิทธิของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงฟ้องแย้งโจทก์ทั้งสอง ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทตามแผนที่ท้ายฟ้องตามกรอบสีแดงเป็นสิทธิของจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฟ้องแย้งจะต้องเป็นคำฟ้องที่มีสภาพแห่งข้อหาว่า โจทก์โต้แย้งสิทธิของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมอย่างไรบ้าง และคำขอบังคับคือจะให้ศาลบังคับโจทก์ให้กระทำหรืองดเว้นการกระทำอย่างไรในเรื่องที่ถูกโต้แย้งสิทธิ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น คือ จำเลยมีสิทธิที่อ้างว่าถูกโจทก์โต้แย้งอย่างไร ทั้งนี้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง และมาตรา 177วรรคสาม แต่ตามคำฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ไม่มีคำขอให้ศาลบังคับโจทก์ให้กระทำหรืองดเว้นการกระทำอย่างไรบ้าง ส่วนคำขอท้ายฟ้องแย้งที่ว่าขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทตามกรอบสีแดงท้ายฟ้องแย้งเป็นสิทธิของจำเลยที่ 2 นั้น หาใช่คำขอบังคับโจทก์ไม่ คำขอในส่วนนี้ศาลวินิจฉัยตามคำฟ้องเดิมได้อยู่แล้ว
พิพากษายืน.