โจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีก ๒ คนร่วมกันลักกระบือ๔ ตัว ราคา ๔,๖๐๐ บาท ซึ่งเป็นสัตว์อันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมของนายซุย นุประพันธ์ ผู้มีอาชีพกสิกรรมไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕, ๘๓ ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคากระบือ๔,๖๐๐ บาทแก่เจ้าทรัพย์ด้วย และนับโทษจำเลยที่ ๑ ต่อจากโทษคดีอาญาแดงที่ ๓๑๙/๒๕๑๓ และคดีอาญาดำที่ ๓๕๓/๒๕๑๓ กับคดีอาญาดำที่ ๑๐๕๒/๒๕๑๓ และนับโทษจำเลยที่ ๒ ต่อจากคดีอาญาดำที่ ๓๕๓/๒๕๑๓ของศาลจังหวัดขอนแก่นด้วย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๕, ๘๓ ให้จำคุกคนละ ๓ ปี ให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์๔,๖๐๐ บาทแก่เจ้าทรัพย์ นับโทษจำเลยที่ ๑ ต่อจากคดีอาญาแดงที่ ๓๑๙/๒๕๑๓ของศาลจังหวัดขอนแก่น ส่วนที่ขอให้นับโทษจำเลยที่ ๑ ต่อจากคดีอาญาดำที่ ๓๕๓/๒๕๑๓ และดำที่ ๑๐๕๒/๒๕๑๓ กับนับโทษจำเลยที่ ๒ ต่อจากคดีอาญาดำที่ ๓๕๓/๒๕๑๓ ของศาลจังหวัดขอนแก่น ให้ยกเพราะคดีดังกล่าวยังมิได้พิพากษา
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำผิด หรือเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด แม้จำเลยที่ ๑จะไม่ได้อุทธรณ์ขึ้นมา แต่เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ ๑ ให้มิต้องรับโทษได้ พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสาม และขอให้นับโทษจำเลยที่ ๑ต่อจากคดีอาญาแดงที่ ๓๑๙/๒๕๑๓ และต่อจากโทษในคดีอาญาดำที่ ๓๕๓/๒๕๑๓ซึ่งเป็นคดีอาญาแดงที่ ๑๐๒๑/๒๕๑๓ ของศาลจังหวัดขอนแก่น ซึ่งจำเลยนี้เป็นจำเลยที่ ๒ ในคดีแดงที่ ๑๐๒๑/๒๕๑๓ ดังกล่าว และคดีทั้งสองนั้นได้ถึงที่สุดแล้ว
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๑๓ เวลาประมาณ๘.๐๐ นาฬิกา จำเลยที่ ๒ พาจำเลยที่ ๑ ไปหานายสุพจน์พยานโจทก์ที่บ้านแล้วชวนกันไปหาปลาที่เขื่อนอุบลรัตน์ เมื่อถึงบ้านป่าหวาย คนทั้งสามได้ไปแวะบ้านจำเลยที่ ๓ แล้วทั้งสี่คนพากันไปเขื่อนอุบลรัตน์แล้วกลับมานอนพักค้างคืนที่บ้านจำเลยที่ ๓ คืนนั้นจำเลยที่ ๒ ปรึกษากับจำเลยที่ ๑ ถึงเรื่องจะไปลักกระบือ จำเลยที่ ๓ บอกว่าหมู่บ้านป่าหวายไม่มีกระบือ แต่จะพาไปหาที่อื่นรุ่งขึ้นเวลาประมาณ ๘.๐๐ นาฬิกา จำเลยที่ ๓ พาจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และนายสุพจน์ไปหานายบัวพยานโจทก์ที่บ้านหนองขี้ควง จำเลยที่ ๓ ถามนายบัวว่า มีรายการ(ลักกระบือ) ไหม นายบัวบอกว่ามีแต่พรุ่งนี้ค่อยเอา ครั้นเวลาเที่ยงวัน จำเลยทั้งสามและนายสุพจน์พากันไปอยู่กลางทุ่งห่างบ้านนายบัว ๑ กิโลเมตรเพื่อมิให้ใครเห็น เพราะมีแผนการจะลักกระบือ ถึงกลางทุ่งแล้วทุกคนรออยู่ที่นั่นส่วนจำเลยที่ ๓ กลับไปบ้านป่าหวาย ตกตอนเย็นได้เอาข้าวมาส่งแล้วก็กลับไปนอกนั้นนอนอยู่กลางโคก รุ่งขึ้นเป็นวันที่ ๒๘ นายสุพจน์และจำเลยที่ ๓ ไปหานายบัวที่บ้านอีก นายบัวให้นายสุพจน์ไปรอที่หัวทุ่งนาเพื่อรอรับกระบือ แล้วนายบัวกับจำเลยที่ ๓ ได้ไปต้อนกระบือ ๘ ตัว เป็นของนายซุย ๔ ตัว ของนายคำตา ๔ ตัวมาส่งนายสุพจน์ จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ซึ่งรออยู่ที่หัวทุ่งแล้วจำเลยที่ ๓ บอกแก่นายบัวว่า ถ้าขายได้เงินมากจะแบ่งให้มาก ถ้าขายได้น้อยก็แบ่งให้น้อย ให้นายบัวรออยู่ที่บ้าน แล้วจำเลยที่ ๓ และนายบัวก็กลับ ส่วนจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และนายสุพจน์ช่วยกันต้อนกระบือไป ระหว่างทางได้ฆ่ากระบือไปบ้างและขายไปบ้าง จึงวินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๓ กระทำผิดดังโจทก์ฟ้อง สำหรับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จะมีความผิดสถานใดนั้น ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และนายสุพจน์ไปซุ่มรอรับกระบือที่หัวทุ่งโดยจำเลยที่ ๓ กับพวกจะไปต้อนกระบือมา สถานที่ที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ รอรับกระบือนั้น โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าอยู่ห่างที่จำเลยที่ ๓ กับพวกลักกระบือของเจ้าทรัพย์เท่าไร แต่พออนุมานได้ว่าอยู่ไกลกันมาก จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะร่วมมือกับจำเลยที่ ๓ขณะจำเลยที่ ๓ กับพวกกระทำการลักกระบืออันจะถือว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒เป็นตัวการ แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ร่วมปรึกษาหารือกับจำเลยที่ ๓และพวกเพื่อจะไปลักกระบือ โดยวางแผนนัดหมายให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ไปคอยรับกระบือที่จำเลยที่ ๓ จะไปลักมาดังกล่าวแล้วพาหนี ถือได้ว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ได้ส่งเสริมอันเป็นการช่วยเหลือจำเลยที่ ๓ กับพวกในการที่จะไปลักกระบือจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จึงเป็นผู้สนับสนุนก่อนกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๖
ที่โจทก์ฎีกาขอให้นับโทษจำเลยที่ ๑ ต่อจากโทษในสำนวนคดีอาญาแดงที่ ๑๐๒๑/๒๕๑๓ ของศาลจังหวัดขอนแก่นนั้น โจทก์คงกล่าวในฟ้องฎีกาเพียงว่าคดีอาญาดำที่ ๓๕๓/๒๕๑๓ เป็นคดีอาญาแดงที่ ๑๐๒๑/๒๕๑๓ ไม่แสดงรายละเอียดให้เพียงพอว่าศาลพิพากษาเกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ อย่างไร สำนวนก็ไม่อ้างประกอบและไม่ใช่หน้าที่ของศาลที่จะไปค้นคว้าหาข้อเท็จจริงอันจักเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ ๑จึงไม่ชอบที่จะนับโทษต่อให้
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๕(๗)(๑๒) ประกอบด้วยมาตรา ๘๖ ให้จำคุกคนละ ๒ ปี จำเลยที่ ๓มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕(๗)(๑๒) ให้จำคุก ๓ ปีคำรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามมาตรา ๗๘ คงให้จำคุกจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ คนละ๑ ปี ๔ เดือน จำคุกจำเลยที่ ๓ มีกำหนด ๒ ปี การคืนหรือใช้ราคาทรัพย์และการนับโทษต่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น