โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนคดีอาญา และจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายพร้อมทั้งมีหน้าที่ควบคุมผู้ถูกจับกุมส่งพนักงานสอบสวนและเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ได้จับกุมและควบคุมตัวจ่าอากาศโทวอลเตอร์ในข้อหามีกัญชาและเครื่องสูบกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาต และโดยทุจริตได้ร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบด้วยหน้าที่เรียกเงินจำนวน ๒,๐๐๐ บาทจากจ่าอากาศโทวอลเตอร์ และให้ไปหาเงินจำนวน ๒,๐๐๐ บาทที่เรียกร้องมาโดยมิชอบ โดยบอกว่าเมื่อหามาให้ได้แล้วจะปล่อยตัวไม่นำส่งพนักงานสอบสวนคดี อันเป็นการจูงใจให้จ่าอากาศโทวอลเตอร์ให้หามาให้ซึ่งทรัพย์สิน และเรียกทรัพย์สินเพื่อไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยหน้าที่ และโดยทุจริต แล้วจำเลยดังกล่าวได้ร่วมกันปล่อยจ่าอากาศโทวอลเตอร์ผู้ถูกคุมขังในอำนาจของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาให้หลุดพ้นจากการคุมขังไป ทั้งนี้โดยจำเลยที่ ๔ ได้ช่วยพูดเรียกเงินและแนะนำให้ปล่อยจ่าอากาศโทวอลเตอร์พ้นจากการควบุคมเพื่อไปหาเงินที่เรียกร้องมาให้ อันเป็นการช่วยเหลือและให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ กระทำผิดดังกล่าวก่อนหรือขณะกระทำความผิด ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๘, ๑๔๙, ๑๕๗, ๑๙๑, ๒๐๔, ๘๓, ๘๖, ๙๐, ๙๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๔, ๕, ๑๓ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ข้อ ๒, ๔
จำเลยทั้ง ๔ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๙, ๑๕๗ , ๒๐๔ การกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๙, ๑๕๗ เป็นการกระทำกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๙ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ให้จำคุกคนละ ๕ ปี ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๔ ให้จำคุกคนละ ๑ ปี รวมคนละ ๖ ปี จำเลยที่ ๔ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๙, ๑๕๗, ๘๖, ๑๙๑ ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๙, ๘๖ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ให้จำคุก ๓ ปี ๔ เดือน และให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๔ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๙๑ อีก ๘ เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ ๔ สี่ปี คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์และจำเลยทั้ง ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๙, ๑๕๗, ๑๙๑, ๒๐๔ แต่ให้ลงโทษตามมาตรา ๑๔๙ มาตราเดียว ให้ลงโทษจำคุกคนละ ๕ ปี จำเลยที่ ๔ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๙, ๑๕๗, ๑๙๑, ๒๐๔, ๘๖ ให้ลงโทษตามมาตรา ๑๔๙, ๘๖ สถานเดียว โดยจำคุก ๓ ปี ๔ เดือน
โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๘ ด้วย ขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ตามมาตรา ๑๔๘ ลงโทษจำเลยที่ ๔ ตามมาตรา ๑๔๘, ๘๖ ด้วย กับขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่แต่ละกรรมเป็นกระทงความผิดไป
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๙๑, ๒๐๔
จำเลยที่ ๒ ฎีกาข้อเท็จจริงขอให้ยอกฟ้องโจทก์
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ ๔ เป็นพลเรือน ได้นำจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีหน้าที่สืบสวนและจับกุมผู้กระทำผิด ไปจับจ่าอากาศโทวอลเตอร์ที่บ้านพักในข้อหามีกัญชาและกล้องสูบกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากการตรวจค้นพบกัญชาและกล้องสูบกัญชาในบ้านพักของจ่าอากาศโทวอลเตอร์แล้วเรียกเอาเงิน ๒,๐๐๐ บาท จากจ่าอากาศโทวอลเตอร์ เพื่อจะไม่จับส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย แล้วให้จ่าอากาศโทวอลเตอร์ไปเอาเงินมาให้
ปัญหามีว่าการการทำของจำเลยจะเป็นความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตราใดบ้าง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวการกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๙ ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๕ ที่โจทก์ฎีกาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๘ ด้วยนั้น เห็นว่าการกระทำที่จะเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๘ ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๔ นั้นจะต้องเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ เช่น แกล้งกล่าวหาจับกุมเข้าเป็นต้น แล้วใช้อำนาจนั้นข่มขืนหรือจูงใจเขามอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น แต่คดีนี้จ่าอากาศโทวอลเตอร์กระทำความผิดจริง จำเลยไม่ได้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบโดยแกล้งขู่ว่าจะจับจ่าอากาศโทวอลเอร์โดยไม่ได้กระทำความผิด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา ๑๔๘ ดังที่โจทก์ฎีกา และเมื่อการกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๘ ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วก็ไม่จำต้องปรับบทด้วยมาตรา ๑๕๗ ซึ่งบททั่วไปอีกบทหนึ่งแต่การที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ เรียกเงินจากจ่าอากาศโทวอลเตอร์แล้วให้จ่าอากาศโทวอลเตอร์ไปเอาเงินนั้น คดีได้ความว่าจำเลยเรียกเงินเพื่อจะไม่จับกุมจ่าอากาศโทวอลเตอร์ ไม่ใช่ว่าจับกุมแล้วเรียกเงินเพื่อจะปล่อย แม้ขณะที่จ่าอากาศโทวอลเตอร์จะไปเอาเงินจำเลยบอกว่าจะให้พวกจำเลยคนหนึ่งไปด้วย เป็นทำนองว่าเพื่อคุมตัวจ่าอากาศโทวอลเตอร์โดยปริยาย แต่เมื่อมีผู้ทักท้วงขึ้นจำเลยก็มิได้ไปด้วย เพียงแต่ให้จ่าอากาศโทวอลเตอร์ลงชื่อในบันทึกการจับกุมไว้ให้เท่านั้น โดยกล่าวว่าถ้าไม่ยอมลงชื่อจะจับไปสถานีตำรวจ ตามพฤติการณ์ดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้จับควบคุมตัวจ่าอากาศโทวอลเตอร์ อันจะเข้าเกณฑ์ว่ามีการคุมขังแล้วดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๙๑ ตามที่แก้ไข และมาตรา ๒๐๔ การที่จำเลยให้จ่าอากาศโทวอลเตอร์ไปเอาเงิน จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา ๑๙๑ และ ๒๐๔ ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นพลเรือนมีฐานะเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๙, ๘๖ พระราชบัญญัติแกไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๕ เท่านั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยมานั้นยังคลาดเคลื่อนอยู่ สมควรแก้ให้ถูกต้อง และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาแก้ตลอดไปถึงจำเลยอื่น ที่มิได้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวนี้ด้วย เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๘, ๑๙๑, ๒๐๔ แล้ว ที่โจทก์ฎีกาขอให้เรียงกระทงลงโทษนั้น จึงตกไปในตัว
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๙ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๕ จำเลยที่ ๔ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๙ ตามที่แก้ไขประกอบด้วยมาตรา ๘๖ ส่วนกำหนดโทษคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
(ชุ่ม สุนทรชัย สัญชัย สัจจวานิช แผ้ว ศิวะบวร)