โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน4,330,785.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 3,477,585.62 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่ชำระขอให้ยึดทรัพย์จำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน3,477,585.62 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 22 มีนาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จหากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 43318ตำบลสามเสนใน (บางซื่อฝั่งเหนือ) อำเภอพญาไท (บางซื่อ)กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นตามที่โจทก์และจำเลยมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า นายอุดม สุขศิริ และจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2537นายอุดมกู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 3,500,000 บาท และนายอุดมได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากโจทก์แล้ว จำเลยให้ความยินยอมเป็นหนังสือในการที่นายอุดมกู้ยืมเงินจากโจทก์และจำเลยมอบอำนาจให้นายศากร จิตรีพล นำที่ดินโฉนดเลขที่ 43318ตำบลสามเสนใน (บางซื่อฝั่งเหนือ) อำเภอพญาไท (บางซื่อ)กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ โดยนายอุดมให้ความยินยอมเป็นหนังสือในการที่จำเลยจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ต่อมาวันที่ 21 มีนาคม 2537 นายอุดมชำระหนี้จำนวน61,250 บาท ให้แก่โจทก์ หลังจากนั้นนายอุดมและจำเลยมิได้ชำระหนี้ให้โจทก์อีก โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองภายในกำหนด 1 เดือน จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย
คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญาจำนองต่อโจทก์หรือไม่เห็นว่า แม้หนี้เงินกู้จำนวน 3,500,000 บาท ซึ่งนายอุดมสามีจำเลยกู้ยืมจากโจทก์ นายอุดมนำไปประกอบธุรกิจตามที่จำเลยเบิกความ หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่นายอุดมก่อขึ้นในระหว่างสมรสอาจเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่จำเลยก็ยินยอมให้นายอุดมกู้ยืมเงินดังกล่าวจากโจทก์ ตามหนังสือให้ความยินยอมเอกสารหมาย จ.12 เห็นได้ว่าจำเลยได้ร่วมรับรู้ถึงหนี้เงินกู้ที่นายอุดมได้ก่อให้เกิดขึ้นและจำเลยได้ให้สัตยาบันในหนี้ดังกล่าวแล้ว ดังนั้นหนี้เงินกู้ที่นายอุดมกู้ยืมจากโจทก์จึงเป็นหนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1490(4) จำเลยในฐานะภริยาย่อมต้องร่วมกับนายอุดมผู้เป็นสามีรับผิดชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวให้แก่โจทก์เมื่อนายอุดมรับเงินกู้จำนวน 3,500,000 บาท ไปจากโจทก์แล้วถือได้ว่าจำเลยได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้ว จากโจทก์ด้วย
ส่วนที่จำเลยอ้างในฎีกาว่า ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินระบุว่า จำเลยจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อประกันหนี้การกู้ยืมเงินที่จำเลยเอาไปจากโจทก์ การจดทะเบียนจำนองต้องมีสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นหนี้ประธานด้วย จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินจากโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานมาแสดงว่าจำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์จึงไม่มีหนี้ประธานที่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่ต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ต่อโจทก์นั้น เห็นว่า หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 วรรคหนึ่ง มิใช่แบบของนิติกรรม ทั้งกฎหมายก็มิได้บัญญัติว่าหลักฐานดังกล่าวจะต้องมีในขณะที่ให้กู้ยืม หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือจึงอาจมีก่อนหรือหลังการกู้ยืมเงินก็ได้ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า หนี้เงินกู้ที่นายอุดมกู้ยืมจากโจทก์เป็นหนี้ที่นายอุดมและจำเลยเป็นลูกหนี้ร่วมกันต่อโจทก์การที่นายอุดมสามีจำเลยยินยอมให้จำเลยจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างประกันเงินกู้จำนวน 3,500,000 บาท โดยนายอุดมทำนิติกรรมยืมเงินจากโจทก์ ตามหนังสือให้ความยินยอมเอกสารหมาย จ.6 ปรากฏว่า หนังสือให้ความยินยอมดังกล่าวนายอุดมสามีจำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ด้วย ดังนั้น หนังสือให้ความยินยอมเอกสารหมาย จ.6 จึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือแล้ว กรณีไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมของจำเลยซ้ำอีก จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินต่อโจทก์
ที่จำเลยฎีกาเป็นประการที่สองว่า โจทก์ฟ้องบังคับจำนองว่าจำเลยจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินที่จำเลยเอาไปจากโจทก์ แต่ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่านายอุดมเป็นผู้กู้ยืมเงินและรับเงินจำนวน 3,500,000 บาท ไปจากโจทก์จึงเป็นการนำสืบนอกคำฟ้องและนอกประเด็นนั้นเห็นว่า แม้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินที่จำเลยเอาไปจากโจทก์ แต่การนำสืบถึงหนี้ตามคำฟ้องโจทก์ย่อมต้องนำสืบถึงที่มาแห่งหนี้โดยละเอียดว่าหนี้เงินกู้ดังกล่าวมีมูลมาอย่างไร การที่โจทก์นำสืบว่าการกู้ยืมเงินดังกล่าวมีมูลหนี้เดิมมาจากนายอุดมสามีจำเลยเป็นผู้กู้ยืมโดยจำเลยให้ความยินยอมและจำเลยยอมจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ดังกล่าว ซึ่งเป็นหนี้ที่นายอุดมและจำเลยเป็นลูกหนี้ร่วมกันเช่นนี้ จึงเป็นการนำสืบตามประเด็นแห่งคดี มิใช่เป็นการนำสืบนอกประเด็นดังที่จำเลยอ้าง
ที่จำเลยฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่า หนังสือสัญญาจำนองที่ดินกำหนดให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะทั้งหมด จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่าแม้ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 1 ระบุให้คิดดอกเบี้ยในหนี้จำนองอัตราร้อยละ 16 ต่อปี และตกลงนำส่งดอกเบี้ยเดือนละครั้งเสมอไปข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวตกเป็นโมฆะเพราะเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2537 จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างต่อมาวันที่ 21 มีนาคม 2537 นายอุดมชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยรวม 61,250 บาท ให้แก่โจทก์หลังจากนั้นนายอุดมและจำเลยมิได้ชำระหนี้ให้โจทก์อีกเมื่อจำเลยตกลงชำระดอกเบี้ยให้โจทก์เดือนละครั้ง แต่เมื่อถึงกำหนดงวดวันที่ 21 เมษายน 2537 จำเลยไม่ชำระจำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 เมษายน 2537 เป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่งมิใช่ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2537 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน3,477,585.62 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2537 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์