โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 2,366,630.14 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,100,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงิน 2,100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 มีนาคม 2564 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามฟ้อง ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 8,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2532 จบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านวิศวกรรมศาสตร์ ขณะเกิดเหตุพิพาทอายุ 29 ปีเศษ ประกอบอาชีพการงานอยู่ที่สมาพันธรัฐสวิส จำเลยเกิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2541 ขณะเกิดเหตุพิพาทอายุ 20 ปีเศษ ไม่ได้ประกอบอาชีพ จำเลยมีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคาร ก. สาขาบิ๊กซี นครสวรรค์ (วี - สแควร์) บัญชีเลขที่ 006 – 1 – 82xxx – x ชื่อบัญชี "น.ส. ฐิตามินทร์" จำเลยมีโปรแกรมไลน์ (LINE) บัญชีชื่อ SHIRLEYT โจทก์กับจำเลยพบและรู้จักกันบนเครื่องบินโดยสารระหว่างเดินทางไปสมาพันธรัฐสวิส และเป็นการพบกันเพียงครั้งเดียว จากนั้นโจทก์และจำเลยใช้โปรแกรมไลน์ (LINE) ดังกล่าวส่งข้อความสนทนากัน โจทก์โอนเงินให้จำเลย 20 ครั้ง ต่อมาจำเลยแจ้งโจทก์ว่าธุรกิจที่นำเงินจากโจทก์ไปลงทุนไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ โจทก์จึงไม่ประสงค์จะสนับสนุนทางการเงินแก่จำเลยอีกต่อไป และทวงถามให้จำเลยคืนเงินดังกล่าว แต่จำเลยไม่ชำระคืน โจทก์จึงให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามส่งไปยังจำเลยทางไปรษณีย์ว่าให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถาม จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564 แต่จำเลยยังคงเพิกเฉย โจทก์จึงมอบอำนาจให้นายเกรียงศักดิ์บิดาโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ สำหรับจำนวนเงินที่จำเลยรับว่าได้รับโอนจากโจทก์เป็นเงินรวม 2,100,000 บาท นั้น ศาลตรวจดูแล้วปรากฏว่าจำนวนเงินตามฟ้องที่ถูกต้องรวมเป็นเงิน 2,150,000 บาท อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์ไม่ฎีกา ข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคาร ก. บัญชีเลขที่ 006 – 1 – 82xxx – x ของจำเลย 20 ครั้ง รวมเป็นเงิน 2,100,000 บาท และจำเลยได้รับเงินดังกล่าวครบถ้วนแล้ว จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาโดยสรุปว่า ข้อความที่โจทก์ส่งให้แก่จำเลยทางโปรแกรมไลน์ (LINE) ว่า "การกู้ยืมเงินนี้ไม่คิดดอกเบี้ยและยังไม่บังคับวันกำหนดชำระคืน" ย่อมแสดงให้เห็นว่าการโอนเงินดังกล่าวโจทก์จำเลยมิได้มีเจตนาให้ผูกพันเป็นการกู้ยืมเงินที่แท้จริง ข้อความที่โจทก์สนทนากับจำเลยทางโปรแกรมไลน์ (LINE) เป็นข้อความที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาร่วมลงทุนประกอบกิจการค้าขายเสื้อผ้าและหน่อไม้กับจำเลย และภาพถ่ายที่จำเลยอ้างส่งก็แสดงถึงสินค้าที่จำเลยนำเงินที่โจทก์โอนให้ไปใช้ดำเนินกิจการบางส่วนแล้ว พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักรับฟังได้ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่" คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงิน 20 ครั้ง แต่ในการบรรยายฟ้องปรากฏว่า ในการกู้ยืมเงินครั้งที่ 1 โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2562 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 50,000 บาท โดยโจทก์โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคาร ก. บัญชีเลขที่ 006 – 1 – 82xxx – x ชื่อบัญชี "น.ส. ฐิตามินทร์" ซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากของจำเลย ส่วนการกู้ยืมเงินครั้งที่ 2 ถึง 20 โจทก์บรรยายฟ้องทำนองเดียวกันว่า เมื่อวันที่ (ระบุวันเดือนปี) โจทก์ส่งข้อความถึงจำเลยทางโปรแกรมไลน์ (LINE) ดังกล่าวว่า "นายชิษณุจะจัดทำธุรกรรมให้ยืมเงินจำนวน (ระบุจำนวนเงิน) ให้แก่นางสาวฐิตามินทร์ เพื่อใช้ลงทุนในธุรกิจ" โดยให้จำเลยพิมพ์คำว่า "ตกลง" เพื่อตกลงการกู้ยืม จำเลยได้ตกลงกู้ยืมเงิน โจทก์จึงโอนเงินให้แก่จำเลยเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคาร ก. บัญชีเลขที่ 006 – 1 – 82xxx – x ของจำเลย แม้จำเลยให้การรับว่า ได้รับเงินที่โอนจากโจทก์แล้วทั้งยี่สิบครั้ง และพิมพ์คำว่า "ตกลง" โปรแกรมไลน์ (LINE) ตามที่โจทก์ให้พิมพ์ แต่การรับของจำเลยก็เป็นการรับตามที่ปรากฏตามฟ้องเท่านั้น จำเลยยังมีข้อต่อสู้อยู่ว่าการโอนเงินดังกล่าวไม่ใช่เป็นการกู้ยืมเงิน แต่เป็นการร่วมกันลงทุนประกอบธุรกิจออกแบบ ค้าขายเสื้อผ้า และส่งออกหน่อไม้ในลักษณะของการตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งยังไม่มีการชำระบัญชี โจทก์จึงยังไม่สามารถฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลย หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อของจำเลยซึ่งโจทก์อ้างว่าจำเลยเป็นผู้กู้ยืมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จริงหรือไม่ เมื่อสืบพยานโจทก์ก็อ้างเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1 ถึง 24 เป็นพยานหลักฐาน ซึ่งเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 2 ถึง 21 ศาลชั้นต้นได้หมายเป็นเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.22 ตามลำดับ เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 2 (ที่โจทก์อ้างว่าเป็นการกู้ยืมเงินครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2562) กลายเป็นเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งเป็นเอกสารท้ายคำฟ้องเดิม โดยไม่มีเอกสารเพิ่มเติมอีก โดยเอกสารหมาย จ.3 เป็นเพียงสำเนาเอกสารที่ธนาคารออกให้เป็นหลักฐานว่า ธนาคารได้ทำการโอนเงิน 50,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 เท่านั้น ไม่มีข้อความในเรื่องการกู้ยืมเงิน ถือว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมครั้งที่ 1 เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อจำเลยผู้กู้ยืมมาแสดง ส่วนเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 20 และหมายเลข 21 (ที่โจทก์อ้างว่าเป็นการกู้ยืมตามฟ้องครั้งที่ 19 และ 20 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 และวันที่ 3 กันยายน 2562) กลายเป็นเอกสารหมาย จ.21 และ จ.22 ซึ่งไม่ปรากฏข้อความที่จำเลยพิมพ์ตอบ"ตกลง" เพื่อตกลงการกู้ยืมเงินตามที่โจทก์อ้างว่าเป็นการกู้ยืมเงินครั้งที่ 19 และครั้งที่ 20 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 และวันที่ 3 กันยายน 2562 จำนวนเงิน 50,000 บาท และ 100,000 บาท แต่อย่างใด ถือว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมครั้งที่ 19 และครั้งที่ 20 เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อจำเลยผู้กู้ยืมเป็นสำคัญมาแสดง โจทก์จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีแก่จำเลยสำหรับการกู้ยืมครั้งที่ 1 ครั้งที่ 19 และครั้งที่ 20 ไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง สำหรับการกู้ยืมเงินครั้งที่ 2 ถึงครั้งที่ 18 โจทก์มีสำเนาโปรแกรมไลน์ (LINE) เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 3 ถึง 19 ตรงกับเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.20 ซึ่งโจทก์ส่งข้อความถึงจำเลยในทำนองเดียวกันว่า "นายชิษณุจะจัดทำธุรกรรมให้ยืมเงินจำนวน (ระบุจำนวนเงิน) ให้แก่นางสาวฐิตามินทร์ เพื่อใช้ลงทุนในธุรกิจ การกู้ยืมเงินนี้ไม่คิดดอกเบี้ยและยังไม่บังคับวันกำหนดชำระเงินคืน ลงวันที่... (พิมพ์ตกลงเพื่อยืนยัน)" ซึ่งจำเลยได้พิมพ์ข้อความว่า "ตกลง" ตอบกลับมาปรากฏในสำเนาโปรแกรมไลน์ (LINE) ดังกล่าวมาแสดง ซึ่งจำเลยก็ยอมรับว่ามีการส่งข้อความโต้ตอบกันเช่นนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยจริง การสนทนาทางโปรแกรมไลน์ (LINE) ดังกล่าวเป็นการส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์หรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่ออ่านข้อความสนทนาของโจทก์และจำเลยประกอบกันแล้วย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงกันโดยโจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินและจำเลยตกลงกู้ยืมเงินแต่ละครั้งตามจำนวนที่ระบุไว้ในสำเนาโปรแกรมไลน์ (LINE) ดังกล่าว แม้ไม่มีการลงลายมือชื่อจำเลยลงไว้ก็ตาม เมื่อจำเลยยอมรับว่าส่งข้อความตอบตกลงการที่โจทก์จะให้กู้ยืมเงินจริง ข้อความสนทนาทางโปรแกรมไลน์ (LINE) ดังกล่าวจึงถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อของจำเลยผู้กู้ยืมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาตรา 7, 8, 9 โจทก์จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ การที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า ไม่ใช่การกู้ยืมเงิน แต่เป็นเรื่องที่โจทก์นำเงินมาร่วมลงทุนประกอบธุรกิจออกแบบ ค้าขายเสื้อผ้า รวมถึงธุรกิจส่งออกหน่อไม้กับจำเลย ปัจจุบันยังไม่มีการชำระบัญชี โจทก์จึงยังไม่สามารถฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยได้ เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ แตกต่างไปจากหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินที่โจทก์จำเลยทำกันไว้ ภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนี้จึงตกแก่จำเลย จำเลยคงมีแต่จำเลยเบิกความ ซึ่งคำเบิกความดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยกล่าวอ้างขึ้นเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่มีรายละเอียดว่า จำเลยซื้อผ้าอันเป็นวัตถุดิบในการผลิตเสื้อผ้าจากผู้จำหน่ายผ้ารายใดในย่านพาหุรัด จำนวนเท่าใด และเมื่อใด จำเลยนำผ้าไปให้ช่างรายใดที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผลิตตัดเย็บ เป็นชุดอะไรบ้าง จำนวนเท่าใด และเมื่อใด ทั้งจำเลยไม่มีพยานปากอื่นมาเบิกความสนับสนุนข้ออ้างของจำเลย แม้แต่เพื่อนของจำเลย 2 คน ที่จำเลยอ้างว่าได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้นำเงินที่โจทก์ส่งให้มาว่าจ้างเป็นผู้ช่วยในการประกอบธุรกิจเสื้อผ้า ชุดแฟชั่น ผู้จำหน่ายผ้าให้แก่จำเลยย่านพาหุรัด ช่างที่รับผลิตตัดเย็บเสื้อผ้าให้แก่จำเลย และนางแบบสองคน ที่จำเลยอ้างว่าสวมเสื้อผ้าและชุดแฟชั่นที่จำเลยผลิตมาเบิกความ ส่วนภาพถ่ายหมาย ล.1 และ ล.4 เป็นเพียงภาพผ้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นผ้าสำเร็จรูปมีลวดลายอยู่แล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นผ้าที่โจทก์ออกแบบลวดลาย อีกทั้งผ้าตามภาพถ่ายดังกล่าวมีจำนวนน้อย ไม่สอดคล้องกับจำนวนเงินที่โจทก์โอนมาให้ เอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 2 ซึ่งเป็นข้อความสนทนาผ่านโปรแกรมไลน์ (LINE) ที่จำเลยอ้างว่าใช้ติดต่อกับนางแบบชื่อแพม ก็เป็นการติดต่อเพื่อขอหมายเลขโทรศัพท์จากนางแบบคนดังกล่าวเท่านั้น ภาพถ่ายหมาย ล.3 แผ่นที่ 3 และแผ่นที่ 4 เป็นภาพถ่ายนางแบบสวมชุดแฟชั่นโดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นชุดแฟชั่นที่จำเลยผลิตขึ้นและการถ่ายภาพดังกล่าวเกิดขึ้นจากการว่าจ้างของจำเลย ส่วนธุรกิจส่งออกหน่อไม้และผักกาด (ดอง) ปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยว่า จำเลยได้รับอนุญาตจากบิดาให้ใช้โรงงานหน่อไม้ดองของบิดาซึ่งหยุดกิจการไปแล้วเป็นสถานที่ในการผลิต และจำเลยเป็นฝ่ายซื้อหาหน่อไม้ ผักกาด และวัตถุดิบในการผลิต แต่จำเลยไม่นำสืบรายละเอียดว่า ซื้อวัตถุดิบในการผลิตจากผู้จำหน่ายรายใด จากที่ไหนบ้าง เมื่อใด และจำนวนเท่าใด และจำเลยไม่นำบิดาจำเลยและผู้ที่จำหน่ายวัตถุดิบในการผลิตหน่อไม้มาเบิกความเป็นพยานให้แก่จำเลย และไม่มีหลักฐานภาพถ่ายการประกอบธุรกิจดังกล่าวมาแสดง การลงทุนประกอบธุรกิจเสื้อผ้า ชุดแฟชั่น และธุรกิจส่งออกหน่อไม้และผักกาด (ดอง) เป็นการประกอบธุรกิจที่มีปริมาณการผลิต รายละเอียดและความซับซ้อนอยู่ไม่น้อย แต่กลับไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ทำบัญชีรายรับรายจ่ายแยกประเภทเพื่อให้เห็นว่าซื้อวัตถุดิบในการผลิตมาเมื่อใด จำนวนเท่าใดและเป็นเงินเท่าใด เสียค่าใช้จ่ายในการผลิตเท่าใด จำหน่ายได้เมื่อใดเป็นจำนวนและเป็นเงินเท่าใด ได้กำไรหรือขาดทุนอย่างไรเท่าใด และจะต้องแบ่งกันกับโจทก์จำนวนเท่าใดและอย่างไร ซึ่งเป็นการผิดปกติวิสัยของการประกอบธุรกิจที่มีปริมาณการผลิต รายละเอียด และความซับซ้อนเช่นนี้ การที่โจทก์ส่งข้อความถึงจำเลยทางโปรแกรมไลน์ (LINE) ว่าเป็นเรื่องให้กู้ยืมเงิน และให้จำเลยพิมพ์ "ตกลง" เพื่อยืนยันก่อนที่โจทก์จะโอนเงินทุกครั้ง ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่า จำเลยย่อมรู้ว่าเป็นเรื่องการกู้ยืมเงิน ประกอบกับโจทก์และจำเลยพบกันเพียงครั้งเดียวบนเครื่องบินโดยสาร แม้ข้อความสนทนาที่โจทก์ส่งถึงจำเลยทางโปรแกรมไลน์ (LINE) จะมีข้อความเกี้ยวพาราสีจำเลยอยู่บ้าง และยังมีข้อความเป็นบันทึกช่วยจำว่า Funding (เงินลงทุน) Investment (การลงทุน) หรือ business (ธุรกิจ) ในตอนท้ายของสำเนาแบบโอนเงินสำเร็จก็ตาม แต่การที่โจทก์ให้จำเลยตอบตกลงในข้อความที่ให้กู้ยืมเงินทางโปรแกรมไลน์ (LINE) ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งจำเลยก็ตอบตกลงแสดงว่าโจทก์และจำเลยประสงค์จะผูกพันกันในลักษณะการกู้ยืมเงิน จึงไม่พอฟังว่าเป็นเรื่องร่วมลงทุน พยานหลักฐานจำเลยจึงมีน้ำหนักน้อยไม่เพียงพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า การที่โจทก์โอนเงินให้แก่จำเลย จึงมิใช่เป็นการร่วมลงทุนอันเป็นการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ แต่เป็นการให้จำเลยกู้ยืมเงิน และพิพากษาให้จำเลยชำระเงินที่โจทก์โอนให้ครั้งที่ 2 ถึงที่ 18 พร้อมดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์นั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้จำเลยชำระเงินที่โจทก์โอนให้ครั้งที่ 1 ครั้งที่ 19 และครั้งที่ 20 พร้อมดอกเบี้ยด้วยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฏีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 1,950,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวในอัตราและระยะเวลาที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 กำหนด ยกฟ้องสำหรับเงินที่โจทก์โอนให้ครั้งที่ 1 ครั้งที่ 19 และครั้งที่ 20 กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6