โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2512 โจทก์ทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 20254ตำบลหนองนกไข่ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เนื้อที่ 2 ไร่แก่จำเลยที่ 1 โดยมีเงื่อนไขเพื่อประโยชน์ในการใช้ปลูกสร้างสถานีตำรวจภูธร จำเลยที่ 1 ออกหนังสือเกียรติบัตรรับว่าจะจัดการให้เป็นไปตามความประสงค์อันเป็นเงื่อนไขหลักที่โจทก์กำหนดไว้ในนิติกรรมต่อมาวันที่ 29 พฤศจิกายน 2522 จำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาโดยจดทะเบียนโอนที่ดินเปลี่ยนนามเป็นของจำเลยที่ 2 โดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบ และเป็นเวลา 26 ปีเศษแล้วจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ปลูกสร้างสถานีตำรวจภูธรตามเงื่อนไขสัญญาแต่อย่างใดโจทก์จึงแจ้งเป็นหนังสือให้จำเลยทั้งสองคืนที่ดินแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสองไปดำเนินการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์เปลี่ยนแปลงให้โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 20254ตำบลหนองนกไข่ (ชูกัง) อำเภอกระทุ่มแบน (ตลาดใหม่)จังหวัดสมุทรสาคร (นครไชยศรี) โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติ ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า การให้ที่ดินของโจทก์แก่จำเลยที่ 1 เพื่อปลูกสร้างสถานีตำรวจภูธรได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ กรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงตกเป็นของทางราชการจำเลยที่ 1 และเปลี่ยนสภาพเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เนื่องจากเป็นการได้มาก่อนวันที่6 มีนาคม 2518 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518ใช้บังคับ จำเลยที่ 1 จึงต้องโอนเปลี่ยนนามเป็นของจำเลยที่ 2ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2522 การให้ที่ดินของโจทก์มิใช่การให้โดยมีเงื่อนไขบังคับหลังตามที่โจทก์กล่าวอ้าง โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินให้จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2512 แต่โจทก์มิได้ยื่นเรื่องราวขอที่ดินคืนภายในหนึ่งปี นับแต่วันครบระยะเวลาสิบปีนับแต่วันจดทะเบียนให้ตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 มาตรา 8จำเลยที่ 1 ยังมีความประสงค์ที่จะปลูกสร้างสถานีตำรวจภูธรตำบลให้แก่ทางราชการ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองไปดำเนินการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 20254 เลขที่ดิน 95 ตำบลหนองนกไข่ (ชูกัง)อำเภอกระทุ่มแบน (ตลาดใหม่) จังหวัดสมุทรสาคร (นครไชยศรี)แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติ ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว พยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้ว่าโจทก์โอนทรัพย์สินของโจทก์ให้จำเลยที่ 1 โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2512ทรัพย์สินที่ให้คือที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 20254 ตำบลหนองนกไข่อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เนื้อที่ 2 ไร่ เพื่อประโยชน์ใช้ปลูกสร้างสถานีตำรวจภูธรต่อมาวันที่ 29 พฤศจิกายน 2522จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครว่า ที่ดินเป็นที่ราชพัสดุจึงขอเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์เป็นจำเลยที่ 2 เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 มาตรา 5 ที่ดินจึงมีชื่อจำเลยที่ 2 ตามสารบัญจดทะเบียนแต่ยังคงระบุไว้ในสารบัญจดทะเบียนว่าสงวนไว้เพื่อประโยชน์ใช้ปลูกสร้างสถานีตำรวจภูธร ในปี 2518 ทางสถานีตำรวจภูธรอำเภอกระทุ่มแบนขออนุมัติงบประมาณปี 2520 เพื่อปลูกสร้างสถานีตำรวจภูธรแต่ไม่ได้รับอนุมัติ เนื่องจากจำเลยที่ 1 แจ้งว่างบประมาณไม่เพียงพอ ปี 2533 ปี 2537 และปี 2539 ได้ของบประมาณจัดตั้งสถานีตำรวจภูธรไปอีกแต่ไม่ได้รับการอนุมัติ นับตั้งแต่โจทก์ให้ที่ดินถึงวันฟ้องเป็นเวลา 27 ปีเศษแล้ว ทางราชการยังไม่มีการปลูกสร้างสถานีตำรวจภูธรในที่ดินที่โจทก์ให้ โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 12 ตุลาคม 2538 และวันที่ 18 ธันวาคม 2538 ให้จำเลยที่ 2และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 20254 คืนโจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รับหนังสือวันที่ 20 ตุลาคม 2538 และวันที่ 21 ธันวาคม 2538 ตามหนังสือโจทก์และใบตอบรับทางไปรษณีย์ลงทะเบียนเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.8 ต่อมาจำเลยที่ 2 มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.10 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2538 ตอบโจทก์เรื่องขอคืนที่ดินโดยอ้างกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2537) ตามเอกสารหมาย ล.3 ส่วนจำเลยที่ 1 มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.9 ลงวันที่ 12 มกราคม 2539 ตอบโจทก์เรื่องขอคืนที่ดินว่าการจัดตั้งสถานีตำรวจตามความประสงค์โจทก์นั้น เนื่องจากเนื้อที่ดินไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ทางจำเลยที่ 1 กำหนดไว้แต่ทางสถานีตำรวจภูธรอำเภอกระทุ่มแบนมีโครงการจะจัดตั้งเป็นที่พักสายตรวจและอาคารที่พักของข้าราชการตำรวจ คดีมีปัญหาให้ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดว่า คำชี้ขาดของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ถูกต้องตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สร้างสถานีตำรวจเนื่องจากที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 20254 ที่โจทก์ให้สร้างสถานีตำรวจมีเนื้อที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่จำเลยที่ 1 กำหนดไว้และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ขอเปลี่ยนนามเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 ก็จดทะเบียนไว้ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 20254 ว่า "เพื่อประโยชน์ใช้ปลูกสร้างสถานีตำรวจภูธร" ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 ข้อ 8 กำหนดว่า การโอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุคืนให้แก่ผู้ยกให้หรือทายาทของผู้ยกให้จะกระทำได้เมื่อ (2) ทางราชการไม่ประสงค์จะใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุนั้นตามวัตถุประสงค์ของผู้ยกให้หรือมิได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของผู้ยกให้ภายในสิบปีนับแต่วันที่ยกที่ดินนั้นให้แก่ทางราชการ (3) ผู้ยกให้หรือทายาทของผู้ยกให้ได้ยื่นเรื่องราวขอที่ราชพัสดุคืนภายในสองปีนับแต่วันที่ทางราชการแจ้งความประสงค์ที่จะไม่ใช้ประโยชน์หรือนับแต่วันที่ครบระยะเวลาตาม (2) ในกรณีที่ผู้ยกให้หรือทายาทของผู้ยกให้ยื่นเรื่องราวขอที่ราชพัสดุคืนเกินกำหนดเวลาตาม (3) และทางราชการยังมิได้ใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุนั้น หากกระทรวงการคลังเห็นว่ามีเหตุผลอันสมควรอย่างยิ่งเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจะพิจารณาคืนให้ก็ได้ ข้อ 9 ให้ใช้บังคับกฎกระทรวงนี้แก่การยื่นเรื่องราวขอที่ราชพัสดุคืนที่ผู้ยกให้หรือทายาทของผู้ยกให้ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับด้วย จึงฟังเป็นยุติได้ว่าตามกฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2537) ที่ออกโดยจำเลยที่ 2ทางราชการไม่ประสงค์จะใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุนั้นตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ อีกทั้งมิได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ภายในสิบปีนับแต่วันที่โจทก์ให้ที่ดินแก่ทางราชการ การที่ทางราชการไม่คืนที่ดินที่ได้มาจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่เป็นไปตามเงื่อนไขและไม่เป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2537) ข้อ 8(2)ซึ่งจำเลยทั้งสองตกอยู่ในฐานะผู้ที่จะต้องคืนที่ดินนับแต่เวลาที่ถูกโจทก์เรียกคืนจากทางราชการ และการที่ทางราชการมีหนังสือตอบโจทก์ลงวันที่ 12 มกราคม 2539 ว่าเนื้อที่ดินที่ทางราชการได้มาไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะสร้างสถานีตำรวจภูธรได้ตามที่จำเลยที่ 1 กำหนดไว้และโจทก์ใช้สิทธิเสนอคดีฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2539 ซึ่งยังอยู่ในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่ทางราชการแจ้งความประสงค์ที่จะไม่ใช้ประโยชน์ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2537) ข้อ 3 จำเลยทั้งสองจึงต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 20254คืนให้แก่โจทก์ คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลอุทธรณ์ภาค 3ถูกต้องแล้วฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน