โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 167,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 มีนาคม 2562) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภค พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า ก่อนคดีนี้ โจทก์เคยยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อ ซึ่งผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ จำเลยที่ 2 กับที่ 3 ซึ่งทำสัญญายินยอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 4 ซึ่งทำหนังสือยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อโดยตกลงร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ คดีดังกล่าวศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 8 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ 63,948.17 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ 6,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาแทนเสร็จสิ้น แต่ไม่เกิน 6 เดือน ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภค มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดตามคดีหมายเลขแดงที่ 2099/2561 พิพากษาแก้เป็นว่า ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หรือไม่ใช้ราคาแทน ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันชำระหนี้ดังกล่าวแทน และหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ 63,948.17 บาท ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ชำระแทน 12,000 บาท แต่จำเลยทั้งสี่มิได้ปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ โจทก์จึงติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ 1 โดยรถยนต์มีสภาพชำรุดเสียหาย เมื่อนำรถยนต์ออกขายทอดตลาดแล้วได้เงิน 308,411.21 บาท สำหรับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งต้องรับผิดชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดราคาให้แก่โจทก์เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยคู่ความมิได้อุทธรณ์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาเพียงประการเดียวว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญายินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและหนังสือให้ความยินยอมทำสัญญาเช่าซื้อและร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ก่อนคดีนี้ โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อ จำเลยที่ 2 กับที่ 3 ผู้ทำสัญญายินยอมร่วมรับผิด อย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 4 ภริยาของจำเลยที่ 1 ซึ่งทำหนังสือยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อโดยตกลงรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมต่อศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี และคดีดังกล่าวถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 2099/2561 ของศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภค ที่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีคืนแก่โจทก์ ในกรณีที่คืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 400,000 บาท พร้อมให้รับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หรือไม่ใช้ราคาแทน ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งถือเป็นผู้ค้ำประกันร่วมกันชำระหนี้ดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 ด้วย ผลแห่งคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดจึงผูกพันคู่ความและทำให้จำเลยทั้งสี่มีสถานะเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสี่บิดพลิ้วไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาของศาลนั้นทั้งหมดหรือบางส่วน โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายชนะคดีหรือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมชอบที่จะร้องขอให้มีการบังคับคดีต่อไปได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 และมาตรา 274 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 นอกจากนี้หากการละเลยเสียไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ของจำเลยทั้งสี่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นประการใด โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายังชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสี่เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นได้อีกด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 215 ดังนั้น เมื่อภายหลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภค มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 2099/2561 อันถึงที่สุดแล้ว จำเลยทั้งสี่มิได้ปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษาโดยไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี ทั้งมิได้ใช้ราคาแทนรถยนต์ให้แก่โจทก์ จนโจทก์ต้องขวนขวายติดตามรถยนต์คืนจากจำเลยที่ 1 และรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งโจทก์ได้รับคืนมามีสภาพชำรุดบกพร่อง ทำให้ขายทอดตลาดได้เงินเพียง 308,411.21 บาท ต่ำกว่าราคารถยนต์ที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาคดีก่อน กรณีจึงต้องถือว่าการละเลยเสียไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยทั้งสี่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เป็นราคารถยนต์ส่วนที่ขาดไป ซึ่งจำเลยทั้งสี่ในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาผู้ละเลยต่อหน้าที่ของตนต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นค่าสินไหมทดแทนอันสืบเนื่องมาจากมูลหนี้คดีก่อนที่จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ มิใช่ค่าเสียหายที่มีหลักแหล่งแห่งข้อหาตามสัญญาเช่าซื้อหรือข้ออ้างที่อาศัยความผูกพันกันตามสัญญายินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและหนังสือให้ความยินยอมทำสัญญาเช่าซื้อและร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ซึ่งเลิกกันไปแล้วและศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภค ในคดีก่อนได้วินิจฉัยชี้ขาดจนเสร็จสิ้น กรณีจึงไม่มีเหตุที่ต้องพิจารณาถึงความสมบูรณ์หรือความเป็นโมฆะเสียเปล่าไปของสัญญายินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและหนังสือให้ความยินยอมทำสัญญาเช่าซื้อและร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เพราะมิใช่ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภค หยิบยกปัญหาว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ที่ให้ไว้ต่อกันตกเป็นโมฆะนั้นขึ้นวินิจฉัย และเห็นว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ โดยเห็นว่าเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน นั้น ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนมิใช่บทบังคับว่าศาลต้องหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเสียทุกกรณีไป ศาลจะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยหรือไม่ก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพิจารณาข้อสำคัญที่ว่า คดีก่อนศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภค มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันต้องรับผิดต่อโจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภค คดีนี้หยิบยกปัญหาเรื่องความเป็นโมฆะของสัญญาฉบับเดียวกันกับในคดีก่อนขึ้นวินิจฉัย จนเป็นผลให้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภค เกี่ยวกับความสมบูรณ์ของสัญญาเดียวกันแตกต่างกัน ทั้งยังอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อการบังคับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภคในคดีก่อนต่อไปอีกด้วย นอกจากนี้หากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ค่าขาดราคาดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภค คดีนี้วินิจฉัย ย่อมเท่ากับคำพิพากษาคดีก่อนที่กำหนดให้จำเลยทั้งสี่ต้องปฏิบัติตามในลำดับแรกด้วยการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี ย่อมเป็นอันไร้ผลไปโดยสิ้นเชิงสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โดยที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 สิ้นเสียซึ่งความผูกพันรับผิดในค่าเสียหายที่สืบเนื่องจากการที่ตนไม่นำพาต่อการชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ และเป็นผลให้ค่าขาดราคากลับตกเป็นภาระแก่จำเลยที่ 1 ต้องแบกรับไว้เพียงลำพัง ทั้งที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต่างเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาที่ละเลยต่อการชำระหนี้ไม่แตกต่างกัน ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภค หยิบยกปัญหาว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตกเป็นโมฆะขึ้นวินิจฉัย ดังนั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มิได้ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ตามคำพิพากษาเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดราคาให้แก่โจทก์ ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภค คดีก่อน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อรถยนต์ที่จำเลยทั้งสี่ต้องส่งมอบคืนให้แก่โจทก์ มีมูลค่า 400,000 บาท ตามราคาใช้แทนรถยนต์ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภค กำหนดไว้ในคดีก่อน และโจทก์ได้รับเงินจากการขายทอดตลาดรถยนต์แล้ว 308,411.21 บาท โจทก์จึงยังคงเสียหายคิดเป็นค่าขาดราคารถยนต์เพียง 91,588.79 บาท การที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าขาดราคาให้แก่โจทก์เป็นเงิน 100,000 บาท ย่อมทำให้จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดเกินไปกว่าความเสียหายของโจทก์อันเป็นการไม่ชอบ จำเลยทั้งสี่ควรต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าขาดราคาให้แก่โจทก์เพียง 91,588.79 บาท เท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7
อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 และมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา 7 ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี..." มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา 224 หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี..." และมาตรา 7 บัญญัติให้ใช้บทบัญญัติตามมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดังนั้น คดีนี้ แม้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จะต้องร่วมกันรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดของค่าขาดราคาอันเป็นหนี้เงินนับถัดจากวันฟ้อง คือ วันที่ 29 มีนาคม 2562 เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 แต่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดในช่วงเวลาภายหลังจากวันที่พระราชกำหนดนี้มีผลใช้บังคับ ย่อมต้องนำบทบัญญัติมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ มาใช้บังคับดัวย โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดของหนี้เงินค่าขาดราคาที่จำเลยทั้งสี่ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง อันเป็นบทบัญญัติเดิมก่อนการแก้ไข และคิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 7 ที่แก้ไขใหม่ ปัญหาเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 91,588.79 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 มีนาคม 2562) จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงิน 91,588.79 บาท นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปนั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนไปบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ