รายชื่อโจทก์ปรากฏตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
คดีทั้งสี่สิบห้าสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน กับคดีอีกแปดสำนวนของศาลแรงงานกลาง รวมเป็นห้าสิบสามสำนวน โดยเรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 53 และเรียกจำเลยทั้งห้าสิบสามสำนวนว่า จำเลย แต่คดีสำหรับโจทก์ที่ 1 ที่ 21 ที่ 23 ที่ 24 ที่ 32 ที่ 33 ที่ 35 และที่ 36 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีทั้งสี่สิบห้าสำนวนนี้
โจทก์ทั้งสี่สิบห้าสำนวนฟ้องและโจทก์ที่ 12 ที่ 52 และที่ 53 แก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยตามคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์แต่ละคน และให้จำเลยเพิกถอนประกาศจำเลยที่ ปก 57/2556 ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2556
จำเลยทั้งสี่สิบห้าสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 20 ที่ 22 ที่ 25 ถึงที่ 31 ที่ 34 และที่ 37 ถึงที่ 53 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษายืน
โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 20 ที่ 22 ที่ 25 ถึงที่ 31 ที่ 34 และที่ 37 ถึงที่ 53 ฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยตกลงว่าจ้างโจทก์ทั้งสี่สิบห้าให้เข้าทำงานกับจำเลย ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2556 ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ต่อมาโจทก์ทั้งสี่สิบห้าเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ร. จำเลยเริ่มจ่ายเงินเพิ่มค่าวิชาชีพด้านเทคนิค เงินเพิ่มค่าวิชาชีพด้านปฏิบัติการ และค่าใบอนุญาตพนักงานควบคุมจราจรทางอากาศให้แก่พนักงานสายปฏิบัติการวิศวกรรม ตั้งแต่ปี 2535 โดยมีหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเพิ่มค่าวิชาชีพด้านเทคนิคตามประกาศของบริษัท ว. ที่ ทป.1.1/ปก.0045/2535 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2535 ข้อบังคับเกี่ยวกับเงินเดือน ฯ พ.ศ. 2535 (ฉบับที่ 8) และบัญชีเงินเพิ่มค่าวิชาชีพ ฯ โดยจะจ่ายในอัตราเดือนละ 4,000 บาท และจ่ายให้แก่พนักงานที่มีคุณสมบัติ ดังนี้ เป็นผู้ที่ปฏิบัติงานสายเทคนิค ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเป็นผู้ปฏิบัติงานสายเทคนิค ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับ ปวส. และมีประสบการณ์ในการทำงานมาแล้วอย่างน้อย 3 ปี หรือเป็นผู้ปฏิบัติงานสายเทคนิค ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับ ปวช. และมีประสบการณ์ในการทำงานมาแล้วอย่างน้อย 7 ปี ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2540 ได้มีการปรับเพิ่มค่าวิชาชีพที่ขาดแคลนฯ สำหรับเงินเพิ่มค่าวิชาชีพด้านเทคนิค จากเดือนละ 4,000 บาท เป็นเดือนละ 8,000 บาท โดยจำเลยยังคงจ่ายให้แก่พนักงานที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้เช่นเดิมตามประกาศของบริษัท ว. ที่ ทป.1/ปก.0205/2540 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2540 และบัญชีเงินเพิ่มค่าวิชาชีพ ครั้นเมื่อสหภาพแรงงาน ร. ได้ยื่นข้อเรียกร้อง ลงวันที่ 10 มกราคม 2548 ซึ่งหลังจากการเจรจาร่วมกันระหว่างจำเลยและสหภาพแรงงาน ร. แล้ว จึงได้ตกลงร่วมกันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ระหว่างบริษัท ว. กับสหภาพแรงงาน ร. ฉบับลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 ข้อ 1 กำหนดว่า "บรรดาสภาพการจ้าง อันได้แก่ ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อตกลงใด ๆ ของบริษัท ว. ที่มีต่อพนักงานก่อนวันลงนามในข้อตกลงนี้ ถือเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543" ข้อ 12 กำหนดว่า "ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันให้การพิจารณาปรับเพิ่มเงินค่าวิชาชีพ ... เป็นไปตามผลการศึกษาวิเคราะห์ที่บริษัท ว. กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน นับแต่วันที่ข้อตกลงฉบับนี้มีผลบังคับใช้ โดยในส่วนของเงินเพิ่มค่าวิชาชีพ จะปรับเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 25" ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ระหว่างบริษัท ว. กับสหภาพแรงงาน ร. ดังกล่าว จำเลยกำหนดให้มีผลใช้บังคับรวมถึงพนักงานที่มิได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ร. ด้วย ตามประกาศจำเลยที่ ปก 218/2548 ฉบับลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2548 ต่อมาเพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลงดังกล่าวจำเลยได้ปรับปรุงเงินเพิ่มค่าวิชาชีพที่ขาดแคลน สำหรับเงินเพิ่มค่าวิชาชีพด้านเทคนิคจากเดือนละ 8,000 บาท เป็นเดือนละ 10,000 บาท ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จำเลยได้ตกลงไว้ โดยจำเลยยังคงจ่ายให้แก่พนักงานที่มีคุณสมบัติกำหนดไว้เช่นเดิม ตามประกาศจำเลยที่ ปก 309/2548 ฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2548 ต่อมาจำเลยได้ออกประกาศที่ ปก 57/2556 ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2556 เรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเพิ่มค่าวิชาชีพด้านเทคนิค โดยจำเลยจะจ่ายเงินเพิ่มค่าวิชาชีพด้านเทคนิค ตามบัญชีเงินเพิ่มค่าวิชาชีพฯ (บัญชีหมายเลข 2/1) ให้กับ "ผู้ที่ปฏิบัติงานสายเทคนิค ตั้งแต่ตำแหน่งวิศวกรระบบ/เจ้าหน้าที่แผนงานอาวุโส/เจ้าหน้าที่ระบบสารสนเทศอาวุโส ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และปฏิบัติงานด้านเทคนิคกับบริษัท ฯ มาแล้วอย่างน้อย 3 ปี ผ่านการประเมินทดสอบความรู้ ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง" ทั้งนี้ ให้มีผลสำหรับพนักงานที่เข้าใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป ต่อมาจำเลยได้ตกลงจ้างโจทก์ทั้งสี่สิบห้าเป็นลูกจ้าง แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสี่สิบห้าเป็นพนักงานใหม่ที่เข้าทำงานหลังวันที่ 1 ตุลาคม 2555 และโจทก์แต่ละคนได้ลงลายมือชื่อในหนังสือให้คำยินยอม จึงทราบเงื่อนไขในการจ่ายเงินเพิ่มค่าวิชาชีพด้านเทคนิคแล้ว ต้องถือว่าโจทก์ทั้งสี่สิบห้าเป็นพนักงานใหม่ตกลงและยอมรับเงื่อนไขเข้าทำงานดังกล่าว อันเป็นสภาพการจ้างที่พนักงานใหม่ทำกับจำเลย โดยขณะนั้นโจทก์ทั้งสี่สิบห้ายังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ร. แม้ภายหลังโจทก์ทั้งสี่สิบห้าจะเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ร. ก็ไม่ทำให้สัญญาที่โจทก์ทั้งสี่สิบห้าทำไว้กับจำเลยเปลี่ยนแปลงไป ประกาศจำเลยที่ ปก 57/2556 ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2556 จึงไม่ขัดกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 ข้อ 1 และข้อ 12 และไม่ขัดกับประกาศจำเลยที่ ปก 309/2548 ฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2548 เรื่อง การปรับปรุงเงินเพิ่มค่าวิชาชีพที่ขาดแคลน และค่าเสี่ยงอันตรายในที่สูง และเงินเพิ่มค่าวิชาชีพที่จำเลยจ่ายให้พนักงานผู้ปฏิบัติงานในกลุ่มงานวิศวกรรม ถือเป็นค่าจ้าง มีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (8) (9) คำฟ้องของโจทก์ทั้งสี่สิบห้าที่เรียกร้องเงินเพิ่มค่าวิชาชีพด้านเทคนิคที่เกิดขึ้นก่อนเดือนกรกฎาคม 2560 จึงขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเกี่ยวกับหนังสือมอบอำนาจของจำเลยว่าปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนหรือไม่และใช้เป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ ซึ่งโจทก์ทั้งสี่สิบห้าเพิ่งอ้างในชั้นอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจึงรับวินิจฉัยให้ว่า หนังสือมอบอำนาจที่จำเลยมอบอำนาจให้นางสาวภัทรจิต และหรือนางสาวกรัณยพร ให้กระทำเป็นกิจการเดียวกันคือดำเนินกระบวนพิจารณาคดีและยื่นคำให้การต่อสู้คดีโจทก์ทั้งสี่สิบห้าเพียงคดีเดียว ไม่ได้กระทำกิจการแยกกันโดยต่างคนต่างดำเนินกระบวนพิจารณาคดีและยื่นคำให้การต่อสู้คดีโจทก์ในคดีอื่น กรณีจึงเป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนกระทำการครั้งเดียวซึ่งต้องปิดอากรแสตมป์เพียง 10 บาท เมื่อจำเลยปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจ จำนวน 30 บาท จึงสมบูรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 104 และบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ข้อ 7 (ก) หนังสือมอบอำนาจจึงใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 และปัญหาว่าประกาศจำเลยที่ ปก 57/2556 ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2556 ใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งสี่สิบห้าได้หรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า ประกาศจำเลยที่ ปก 57/2556 ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2556 ระบุให้มีผลสำหรับพนักงานที่เข้าทำงานใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป โจทก์ทั้งสี่สิบห้าเข้ามาทำงานกับจำเลยเป็นพนักงานที่เข้าใหม่ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 (ที่ถูก 1 มิถุนายน 2556) ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ตามตารางข้อมูลโจทก์ทั้งสี่สิบห้าท้ายคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ภายหลังจากจำเลยออกประกาศที่ ปก 57/2556 ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2556 ทั้งเมื่อจำเลยแจ้งหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเพิ่มค่าวิชาชีพด้านเทคนิค ตามประกาศจำเลยที่ ปก 57/2556 ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2556 ในหนังสือว่าจ้างโจทก์ทั้งสี่สิบห้าเป็นพนักงานและโจทก์ทุกคนลงลายมือชื่อในหนังสือให้คำยินยอม ซึ่งถือว่าเป็นสภาพการจ้างที่พนักงานใหม่ตกลงกับจำเลย ประกาศจำเลย ที่ ปก 57/2556 ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2556 จึงมีผลผูกพันใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งสี่สิบห้าได้
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสี่สิบห้าที่ศาลฎีกาอนุญาตให้ฎีกาเพียงประการเดียวว่า ประกาศจำเลยที่ ปก 57/2556 ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2556 เรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเพิ่มค่าวิชาชีพด้านเทคนิค ใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งสี่สิบห้าได้หรือไม่ และจำเลยต้องจ่ายเงินเพิ่มค่าวิชาชีพด้านเทคนิคพร้อมดอกเบี้ยตามคำฟ้องแก่โจทก์ดังกล่าวหรือไม่ เพียงใด ศาลฎีกาเห็นว่า แม้เดิมพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 จะใช้บังคับกับทั้งกิจการภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจก็ตาม แต่ต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 ใช้บังคับแก่กิจการภาครัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะ และมีการยกเลิกพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 แล้วตราพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาใช้บังคับแทน โดยในส่วนของลูกจ้างและนายจ้างภาคเอกชนยังคงบังคับตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ต่อไป ส่วนกิจการรัฐวิสาหกิจเปลี่ยนมาใช้บังคับตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 เช่นนี้ เมื่อมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ใช้บังคับระหว่างโจทก์ทั้งสี่สิบห้าซึ่งเป็นลูกจ้างรัฐวิสาหกิจและจำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว ย่อมไม่อาจที่จะนำพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งใช้บังคับแก่ลูกจ้างและนายจ้างภาคเอกชนมาใช้บังคับแก่คดีนี้ดังที่โจทก์ทั้งสี่สิบห้าฎีกาได้ พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลผูกพันนายจ้างและลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน" และวรรคสองบัญญัติว่า "ห้ามมิให้นายจ้างทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เว้นแต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า" ดังนั้น ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 และประกาศจำเลยที่ ปก 309/2548 ฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2548 เรื่อง การปรับปรุงเงินเพิ่มค่าวิชาชีพที่ขาดแคลน และค่าเสี่ยงอันตรายในที่สูง ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2548 เป็นต้นไป จึงมีผลผูกพันเฉพาะจำเลยและลูกจ้างจำเลยที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ร. ในขณะที่ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นและมีผลใช้บังคับ ตามที่มาตรา 29 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้เท่านั้น หาได้มีผลผูกพันลูกจ้างจำเลยทั้งองค์กรและลูกจ้างที่เข้าทำงานภายหลังข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้วด้วยไม่ เว้นแต่นายจ้างจะกำหนดให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดขึ้นมีผลใช้บังคับรวมถึงพนักงานที่มิได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในขณะนั้นหรือพนักงานที่จะเข้าทำงานใหม่ด้วย ดั่งเช่น ประกาศจำเลยที่ ปก 218/2548 ประกาศเรื่อง ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2548 ที่จำเลยกำหนดให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 ท้ายประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับรวมถึงพนักงานที่มิได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานด้วย แต่เมื่อจำเลยมิได้กำหนดให้มีผลใช้บังคับกับพนักงานที่จะเข้าทำงานใหม่ด้วย โจทก์ทั้งสี่สิบห้าเพิ่งเข้ามาทำงานกับจำเลยระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2556 ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ในขณะที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 และประกาศจำเลยที่ ปก 309/2548 ฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2548 เกิดขึ้นและมีผลใช้บังคับแล้ว ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและประกาศดังกล่าวจึงไม่ผูกพันโจทก์ทั้งสี่สิบห้า จำเลยย่อมมีสิทธิออกประกาศจำเลยที่ ปก 57/2556 ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2556 กำหนดเงื่อนไขให้ลูกจ้างที่เข้าทำงานใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไปได้รับสิทธิประโยชน์ในเงินเพิ่มค่าวิชาชีพด้านเทคนิคแตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 และประกาศจำเลยที่ ปก 309/2548 ฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2548 ได้ ไม่เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 29 วรรคสอง ขณะโจทก์ทั้งสี่สิบห้าเข้าทำงาน จำเลยแจ้งหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเพิ่มค่าวิชาชีพด้านเทคนิค ตามประกาศจำเลยที่ ปก 57/2556 ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2556 ไว้ในหนังสือจ้างโจทก์ทั้งสี่สิบห้าเป็นพนักงานและโจทก์ทุกคนได้ลงลายมือชื่อให้คำยินยอม โดยระบุว่าให้ความยินยอมในการถือปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ วิธีปฏิบัติ ประกาศและคำสั่งที่จำเลยกำหนดไว้ในปัจจุบันและที่จะประกาศใช้ในอนาคตอย่างเคร่งครัด อันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงานระหว่างจำเลยกับโจทก์ทั้งสี่สิบห้า ประกาศจำเลยที่ ปก 57/2556 ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2556 จึงใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งสี่สิบห้าได้ การออกประกาศจำเลย ที่ ปก 57/2556 ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2556 จึงไม่ใช่กรณีจำเลยเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเพิ่มค่าวิชาชีพด้านเทคนิคแก่ลูกจ้างเดิมทั้งหมดโดยไม่ได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างและแก้ไขสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างตามที่โจทก์ทั้งสี่สิบห้ากล่าวอ้าง ส่วนที่โจทก์ทั้งสี่สิบห้าฎีกาอ้างว่า การประกาศใช้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างของจำเลยตามประกาศจำเลยที่ ปก 218/2548 ฉบับลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2548 จำเลยได้ระบุข้อความไว้ชัดเจนว่า "อนึ่ง เพื่อให้พนักงานทุกคนมีความเสมอภาคกัน และมีแรงงานสัมพันธ์ที่ดีภายในองค์กรอันจะส่งผลให้การบริหารงานภายในบริษัท ฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บริษัท ฯ จึงกำหนดให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามรายละเอียดข้อตกลงท้ายประกาศนี้ มีผลใช้บังคับรวมถึงพนักงานที่มิได้เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน ฯ ด้วย" ตามประกาศจำเลยดังกล่าว จึงมีผลทำให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 และประกาศจำเลยที่ ปก 309/2548 ฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2548 มีผลผูกพันลูกจ้างของจำเลยทุกคนไม่ว่าในขณะที่ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับดังกล่าวนั้นลูกจ้างจะเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหรือไม่ หรือจะเป็นลูกจ้างเข้าทำงานใหม่หรือไม่ ก็ตาม นั้น เห็นว่า ตามประกาศจำเลยที่ ปก 218/2548 ฉบับลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2548 ที่ให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 และประกาศจำเลยที่ ปก 309/2548 ฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2548 มีผลใช้บังคับรวมถึงพนักงานที่มิได้เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานด้วย หมายถึงให้มีผลใช้บังคับกับพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยในขณะนั้นที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ร. เท่านั้น หาได้มีความหมายรวมไปถึงบุคคลที่จะเข้ามาทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยในอนาคตดังเช่นโจทก์ทั้งสี่สิบห้าด้วยไม่ และที่โจทก์ทั้งสี่สิบห้าฎีกาว่า หากศาลฎีกาเห็นว่าประกาศจำเลยที่ ปก 57/2556 ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2556 ไม่ขัดต่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 และประกาศจำเลยที่ ปก 309/2548 ฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2548 ก็ควรตีความไปในทางที่ว่าเมื่อโจทก์ทั้งสี่สิบห้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ร. เมื่อใด สิทธิในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันเกิดจากการเรียกร้องของลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานย่อมเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายในทันที นายจ้างย่อมมีหน้าที่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันเกิดจากข้อเรียกร้อง โจทก์ทั้งสี่สิบห้าจึงมีสิทธิได้รับเงินเพิ่มค่าวิชาชีพด้านเทคนิคตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 และประกาศจำเลยที่ ปก 309/2548 ฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2548 นับแต่วันที่เข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ร. นั้น เห็นว่า สิทธิของสมาชิกสหภาพแรงงานตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ย่อมเกิดขึ้นนับแต่ที่ตนเองเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ส่วนสิทธิของสมาชิกสหภาพแรงงาน ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับใด ย่อมเกิดขึ้นเมื่อสมาชิกสหภาพแรงงานผู้นั้นมีผลผูกพันตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสี่สิบห้าไม่มีผลผูกพันกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 และประกาศจำเลย ที่ ปก 309/2548 ฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2548 ดังวินิจฉัยมาในตอนต้นแล้ว โจทก์ทั้งสี่สิบห้าจึงหามีสิทธิได้รับเงินเพิ่มค่าวิชาชีพด้านเทคนิคนับแต่เข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ร. ตามที่กล่าวอ้างไม่ ดังนั้น จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มค่าวิชาชีพด้านเทคนิคพร้อมดอกเบี้ยตามคำฟ้องแก่โจทก์ดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 และประกาศจำเลย ที่ ปก 309/2548 ฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2548 ไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสี่สิบห้า และประกาศจำเลยที่ ปก 57/2556 ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2556 เรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเพิ่มค่าวิชาชีพด้านเทคนิค ใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งสี่สิบห้าได้ ไม่มีเหตุเพิกถอนประกาศดังกล่าว กับจำเลยไม่ต้องใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสี่สิบห้า นั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ทั้งสี่สิบห้าฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน