โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๐๖ และ ๒๘ มกราคม ๒๕๐๖ จำเลยนำเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด ๒ฉบับ สั่งจ่ายเงินสด ๑๒,๐๐๐ บาท และ ๑๘,๐๐๐บาทซึ่งจำเลยลงชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายมาแลกเงินสด ๑๒,๐๐๐ บาท และ ๑๘,๐๐๐ บาท ไปจากโจทก์ และมอบใบหุ้นบริษัทยะลาวิวัฒนา จำกัด ให้โจทก์ยึดถือไว้ทั้งสองคราว จำเลยให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่โจทก์ทุกเดือนตลอดมาจนถึงเดือนธันวาคม ๒๕๑๔ จำเลยจึงงด โจทก์ทวงถามและให้ทนายทวงถามเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท จำเลยแจ้งให้โจทก์แก้วันที่ในเช็คแล้วนำไปขึ้นเงินโจทก์ก็แก้ แต่จำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายไม่ยอมลงลายมือชื่อกำกับ เป็นเหตุให้ธนาคารไม่จ่ายเงินให้โจทก์ ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท คือให้โจทก์แล้วรับเช็คและใบหุ้นของจำเลยคืนไป ฯลฯ
จำเลยให้การว่า ไม่เคยนำเช็คและใบหุ้นที่โจทก์ฟ้องไปแลกเงินสดจากโจทก์แต่จำเลยออกเช็คให้นายข่าทรงซึ่งมาขอร้องให้จำเลยออกเช็คเพื่อนำไปประกันการกู้เงินจากโจทก์ และนายข่าทรงยืมใบหุ้นสองฉบับของจำเลยไปให้โจทก์ยึดถือเพื่อการกู้เงินดังกล่าว
ศาลชั้นต้นพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยเอาเช็คมาแลกเงินสดจากโจทก์ไปสองคราวและมอบใบหุ้นให้โจทก์ยึดถือไว้ ไม่มีข้อความจำเลยมอบเช็คและใบหุ้นให้โจทก์ยึดถือไว้เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ ทั้งไม่ได้บรรยายว่าโจทก์จำเลยตกลงกันจำนำตั๋วเงิน(เช็ค)หรือใบหุ้นต่อกันแต่อย่างใด และยังปรากฏในคำฟ้องว่า โจทก์ให้ทนายมีหนังสือทวงถามให้จำเลยเอาเงินมาคืน ไม่มีลักษณะเป็นการบังคับจำนำ การที่จำเลยออกเช็คให้โจทก์ยึดถือไว้ ตามพฤติการณ์น่าเชื่อว่าออกเพื่อชำระหนี้เงินยืม ส่วนที่มอบใบหุ้นให้โจทก์ยึดถือไว้ด้วยก็เพื่อให้โจทก์ยอมให้จำเลยยืมเงินเท่านั้น กรณีไม่เป็นการจำนำดังที่โจทก์ฎีกา
พิพากษายืน
(สุมิตร ฟังทองพรรณ สุเมธ ทิพยมนตรี จันทร์ ระรวยทรง)