โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3, 4, 7, 8, 14 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 7, 8 วรรคหนึ่ง ฐานพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง ซึ่งต้องระวางโทษเช่นเดียวกับความผิดสำเร็จ กับฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี และปรับ 200,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน และปรับ 100,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 4 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 1 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้ง ภายในกำหนด 3 ปี ให้จำเลยที่ 1 กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยที่ 1 เห็นสมควรมีกำหนด 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 7, 8 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ซึ่งมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 6 ปี และปรับ 500,000 บาท จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี และปรับ 250,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคสอง (1), 127 วรรคสอง จำคุกคนละ 4 ปี และปรับคนละ 300,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 8 เดือน และปรับ 200,000 บาท ลดโทษให้จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี และปรับ 150,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้ไม่เกิน 1 ปี ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นสำหรับจำเลยที่ 1 ฐานพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง และยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นสำหรับจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดียาเสพติดวินิจฉัยว่า คดีสำหรับจำเลยที่ 2 คู่ความไม่ฎีกาจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นฎีกาว่า เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2561 จำเลยที่ 1 ติดต่อนางสาวชญาธรหรือกิ๊ก ผ่านโปรแกรมเมสเซนเจอร์เฟซบุ๊ก และโทรศัพท์เคลื่อนที่ขอซื้อเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ด อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 2 ถุง น้ำหนัก 2 กรัม ในราคาถุงละ 1,300 บาท รวมเป็นเงิน 2,600 บาท จำเลยที่ 1 ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายสาธิต คนรักจำเลยที่ 1 โอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว 2,600 บาท ให้แก่นางสาวชญาธร ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้งเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร ก. สาขาแฟชั่นไอส์แลนด์ รามอินทรา ชื่อบัญชีนายอภิชัย ต่อมาวันเดียวกันนางสาวชญาธรติดต่อขอซื้อเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ด 2 กรัม จากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ตกลงและส่งมอบให้แก่นางสาวชญาธรที่หน้าร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น ปากซอยสุขุมวิท 79 ใกล้คอนโดมิเนียม ค. ที่นางสาวชญาธรพักอาศัยอยู่ นางสาวชญาธรนำเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวใส่ถุงขนมปังยี่ห้อจูลี่ พร้อมหนังสือสวดมนต์ขนาดเล็ก ปกสีขาว 1 เล่ม บรรจุในกล่องพัสดุไปรษณีย์สีน้ำตาล แล้วติดต่อนายชาณุมาศหรือปก ให้นำกล่องพัสดุไปรษณีย์ดังกล่าวไปส่งให้จำเลยที่ 1 ที่ซอยอินทามระ 25 นายชาณุมาศสังเกตว่ากล่องพัสดุไปรษณีย์มีน้ำหนักเบาผิดปกติ เกรงว่าจะมีของผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่ ในวันที่ 29 ตุลาคม 2561 เวลาประมาณ 1 นาฬิกา นายชานุมาศนำกล่องพัสดุไปรษณีย์ส่งให้พันตำรวจตรีกิตติเชษฐ์ ตรวจสอบที่สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ ขณะนั้นจำเลยที่ 1 โทรศัพท์ติดต่อนายชาณุมาศให้รีบนำกล่องพัสดุไปรษณีย์ดังกล่าวไปส่ง ต่อมาจำเลยที่ 1 แจ้งยกเลิกไม่รับกล่องพัสดุไปรษณีย์และให้นายชาณุมาศนำกล่องพัสดุไปรษณีย์ไปคืนนางสาวชญาธร นายชาณุมาศโทรศัพท์แจ้งนางสาวชญาธรว่าจะนำกล่องพัสดุไปรษณีย์ไปคืน นางสาวชญาธรให้นายชาณุมาศนำกล่องพัสดุไปรษณีย์ไปฝากไว้กับพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ป้อมยามของคอนโดมิเนียม ค. ต่อมาพันตำรวจตรีกิตติเชษฐ์กับพวกและนายชาณุมาศเดินทางไปที่คอนโดมิเนียมดังกล่าว และประสานกับเจ้าหน้าที่ของนิติบุคคลขอตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดแล้วพบว่า นางสาวชญาธรเป็นคนนำกล่องพัสดุไปรษณีย์มาส่งให้แก่นายชาณุมาศบริเวณล็อบบี้ของคอนโดมิเนียม ค. พันตำรวจตรีกิตติเชษฐ์ให้เจ้าหน้าที่ของนิติบุคคลพาขึ้นไปที่ห้องพักนางสาวชญาธร พบนางสาวชญาธรอยู่ในห้อง เมื่อนำกล่องพัสดุไปรษณีย์ให้ดูนางสาวชญาธรรับว่าเป็นกล่องที่ตนให้นายชาณุมาศนำไปส่งแก่จำเลยที่ 1 พันตำรวจตรีกิตติเชษฐ์ตรวจค้นกล่องดังกล่าวพบถุงขนม 4 ถุง มีเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดบรรจุอยู่ในถุงพลาสติกใส 2 ถุง และพบหนังสือสวดมนต์ขนาดเล็กปกสีขาว 1 เล่ม ตรวจค้นภายในห้องพบเมทแอมเฟตามีนบรรจุถุงพลาสติก 3 ถุง ถุงพลาสติกใสสำหรับแบ่งและหลอดพลาสติกอยู่ใต้อ่างล้างหน้าในห้องน้ำ และพบอุปกรณ์การเสพยาเสพติดกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในห้อง จึงยึดเป็นของกลางทั้งหมด พนักงานสอบสวนส่งเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ด 5 ถุง ของกลาง ไปตรวจพิสูจน์ได้รับรายงานว่ามีน้ำหนักสุทธิ 2.392 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 2.346 กรัม เฉพาะเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ด 2 ถุง ที่พบในกล่องพัสดุไปรษณีย์มีน้ำหนักสุทธิ 1.267 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 1.244 กรัม
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกมีว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ใช้โทรศัพท์ติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีน 2 ถุง ของกลางกับนางสาวชญาธร และนางสาวชญาธรใช้โทรศัพท์ติดต่อสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยที่ 2 เมื่อนางสาวชญาธรได้รับมอบเมทแอมเฟตามีนที่สั่งซื้อจากจำเลยที่ 2 แล้วก็นำมาบรรจุใส่กล่องพัสดุไปรษณีย์ และว่าจ้างนายชาณุมาศนำกล่องดังกล่าวไปส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้ซื้ออีกทอดหนึ่ง ลักษณะการตกลงกันเพื่อให้นางสาวชญาธรทำการขายและจำเลยที่ 1 ทำการซื้อโดยส่งมอบเมทแอมเฟตามีนกันเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการคบคิดร่วมกันระหว่างนางสาวชญาธรกับจำเลยที่ 1 อันเป็นการสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน โดยการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามมาตรา 127 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด และข้อเท็จจริงได้ความว่าในที่สุดนางสาวชญาธรได้ส่งมอบเมทแอมเฟตามีน 2 ถุง ของกลางให้แก่จำเลยที่ 1 โดยว่าจ้างนายชาณุมาศให้ไปส่งแทน อันเป็นการกระทำตามที่ได้สมคบกันแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ยังไม่ทันรับมอบโดยนายชาณุมาศนำเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไปให้เจ้าพนักงานตำรวจและนางสาวชญาธรผู้ขายถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเสียก่อน จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยการพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน ซึ่งต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 127 วรรคสอง กับฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ซึ่งต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 126 แม้ข้อเท็จจริงปรากฏในทางพิจารณาว่า จำเลยที่ 1 สมคบกับนางสาวชญาธรเพียงผู้เดียวมิได้สมคบกับจำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่จัดหาลูกค้าและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแก่ผู้อื่น จำเลยที่ 1 ติดต่อสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีน 2 ถุง ของกลางจากนางสาวชญาธรโดยไม่ปรากฏว่าจะนำไปจำหน่ายต่อแก่ผู้อื่น และไม่มีการแบ่งกำไรกันระหว่างนางสาวชญาธรกับจำเลยที่ 1 ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 รู้เห็นหรือร่วมกับนางสาวชญาธรมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเมทแอมเฟตามีน 3 ถุง ของกลาง ที่ค้นพบภายในห้องพักของนางสาวชญาธร ซึ่งเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวนางสาวชญาธรเบิกความว่าซื้อมาจากจำเลยที่ 2 ครั้งละ 1 ถุง เมื่อจำเลยที่ 1 สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีน 2 ถุง นางสาวชญาธรจึงสั่งซื้อจากจำเลยที่ 2 อีกก็ตาม แต่ปริมาณเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยที่ 1 พยายามมีไว้ในครอบครองต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ยังให้มีผลใช้บังคับแก่คดีนี้ และจำเลยที่ 1 ไม่อาจนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ จึงฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อการค้า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ยังไม่ถูกต้อง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการต่อไปมีว่า สมควรลงโทษจำเลยที่ 1 ให้เบาลงและรอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า เมทแอมเฟตามีน 2 ถุง ของกลางที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อจากนางสาวชญาธรมีน้ำหนักสุทธิ 1.267 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 1.244 กรัม นับว่าปริมาณไม่มากนัก การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำคุก 4 ปี และปรับ 300,000 บาท ก่อนลดโทษมานั้น เห็นว่า สูงเกินไป สมควรกำหนดโทษให้เบาลงอีกเพื่อให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดี ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกด้วยนั้น เห็นว่า เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษซึ่งมีอันตรายร้ายแรง พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 นับเป็นต้นเหตุในการก่อให้เกิดอาชญากรรมและปัญหาสังคมอื่นติดตามมานานัปการ ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 อายุ 33 ปีเศษแล้ว ย่อมรู้ถึงพิษภัยร้ายแรงดังกล่าวเป็นอย่างดี แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนและมีภาระต้องเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัวดังที่กล่าวอ้างมาในฎีกาก็ตาม ก็ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 โดยไม่รอการลงโทษมานั้น นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุให้ศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาจึงไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคหนึ่ง, 126, 127 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 เป็นการกระทำกรรมเดียวกันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ละบทมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ซึ่งต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จ จำคุก 2 ปี และปรับ 150,000 บาท ลดโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 100,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์