ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตไม่ได้: ขนาด .223 (5.56 มม.) ไม่เข้าข้อยกเว้นชนิดเจาะเกราะ/กระสุนเพลิง
แม้ผู้ชำนาญที่ตรวจพิสูจน์จะมีความเห็นว่า กระสุนปืนของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนแบบที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11ฯ ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ และอาวุธปืนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองนั้นเป็นอาวุธปืนที่จำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตก็ตาม แต่เมื่อกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ข้อ 3 กำหนดว่า "เครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ตามมาตรา 7 หรือมาตรา 24 ต้องเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนตามข้อ 2 ที่ได้รับอนุญาต แต่ต้องไม่เป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิง" อันหมายความว่าเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้นั้นต้องเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ข้อ 2 เว้นแต่เครื่องกระสุนปืนนั้นเป็นชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิงแล้ว ก็เป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ซึ่งเมื่อเครื่องกระสุนปืนของกลางมีขนาดเพียง .223 (5.56 มม.) ไม่เกินขนาดอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ตามกฎกระทรวง ข้อ 2 (1) ที่กำหนดว่า "อาวุธปืนชนิดลำกล้องมีเกลียวที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางปากลำกล้องไม่เกิน 11.44 มม." และข้อ 2 (2) กำหนดว่า "อาวุธปืนชนิดลำกล้องไม่มีเกลียว ดังต่อไปนี้ (ก) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางปากลำกล้องไม่ถึง 20 มม. (ข) ปืนบรรจุปาก ปืนลูกซองและปืนพลุสัญญาณ" แล้วจึงเห็นได้ในเบื้องต้นว่า เครื่องกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) จำนวน 1 นัด ของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ ดังนั้น ถึงหากจะให้รับฟังว่าเครื่องกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) จำนวน 1 นัด ของกลาง เป็นเครื่องกระสุนปืนเล็กกลดังเช่นที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่าเครื่องกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) จำนวน 1 นัด ของกลาง เป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิงซึ่งเป็นข้อยกเว้นตามกฎกระทรวง ข้อ 3 ตอนท้าย ที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ศาลก็ต้องยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ