โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำยาฆ่ายางมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ โดยใช้เครื่องหมายการค้าตรา "วัวแดง" โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อกรมทะเบียนการค้าตามทะเบียนที่ ๗๘๔๑ เพื่อใช้กับน้ำยาฆ่ายาง สินค้าจำพวกที่ ๑ ต่อมาโจทก์ยังได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอื่น ๆ ที่มีรูปวัวแดงเป็นสาระสำคัญอีกหลายคำของโจทก์ได้ส่งสินค้าของโจทก์ไปจำหน่ายในจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะในจังหวัดทางภาคใต้เป็นเวลากว่า ๓๐ ปีแล้ว จำเลยเคยซื้อสินค้าน้ำยาฆ่ายางตราวัวแดงของโจทก์ไปจำหน่ายติดต่อกันประมาณ ๑๐ ปี ต่อมาโจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตราวัวแดงโดยมีรูปวัวสีแดงเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้า มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกันเครื่องหมายการค้าตราวัวแดง อีกคำขอหนึ่ง โดยเพิ่มเติมคำว่า "อารยะพาณิชย์ จ.ว. ตรัง และภาษาจีน" ไว้ที่ด้านบนรูปเครื่องหมายการค้า และขอเป็นชุดเดียวกับเครื่องหมายการค้าเดิมที่จดไว้แล้ว แต่โจทก์ได้รับแจ้งจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนนี้เหมือนหรือเกือบเหมือนกับเครื่องหมายการค้าซึ่งจำเลยขอจดทะเบียนไว้ นายทะเบียนจึงรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตอบคำขอของโจทก์ไม่ได้ โจทก์เห็นว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดีกว่าจำเลย การที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว เพราะจำเลยมีเจตนาจะแข่งขันทางการค้าโดยไม่เป็นธรรมกับโจทก์ ทำให้ประชาชนผู้ซื้อหลงผิดในแหล่งกำเนิดของสินค้า โดยเข้าใจว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ และเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตราวัวแดงดีกว่าจำเลย ให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ หรือให้จำเลยเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งหมด ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือคำพิพากษาแสดงเจตนาแทนจำเลย
จำเลยให้การว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ไม่ว่าในรูปร่าง ลักษณะหรือการเรียกขานกล่าวคือ เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นรูปแพะ ๒ ตัว ยืนหันหน้าเข้าหากัน ด้านล่างกึ่งกลางระหว่างแพะมีคำว่า "ตราแพะแดงคู่" ทั้งหมดอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าส่วนรูปลักษณะเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปวัว ๒ ตัว หันหน้าเข้าหากัน ยืนอยู่บนพื้นหญ้า มีอักษรไทยว่า "น้ำยาฆ่ายางตราวัวชนปรุงพิเศษ" ด้านขวาของภาพมีอักษรจีนกำกับ จำเลยมีสิทธิได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอดังกล่าวดีกว่าโจทก์ เครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ มีลักษณะเหมือนหรือเกือบเหมือนตามคำขอของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตราวัวแดงดีกว่าจำเลย ให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยกับให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยและวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยฎีกาว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยไม่เหมือนกันเพราะของโจทก์เป็นวัว ส่วนของจำเลยเป็นแพะ นอกจากนั้นสลากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ยังระบุไว้ว่าบริษัทอารยะ ร.ม.๙๑ จังหวัดตรัง ส่วนของจำเลยก็ระบุไว้ชัดเจนว่านครวิถีพาณิชย์ จังหวัดนครฯ นั้น เห็นว่า จำเลยมีเจตนาที่จะเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์อย่างเห็นได้ชัด ด้วยการประดิษฐ์-รูปแพะแดงให้มีลักษณะเหมือนกับวัวแดง ซึ่งการกระทำดังกล่าวย่อมทำให้ประชาชนเกิดการสับสน เพราะหากมองผ่าน ๆ แล้ว ยากที่จะแยกแยะได้ว่าเครื่องหมายใดเป็นที่หมายแห่งสินค้าของจำเลยหรือของโจทก์ กรณีฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนและแม้ภายใต้เครื่องหมายซึ่งเป็นรูปสัตว์คือรูปวัวแดงจะมีข้อความดังที่จำเลยอ้างก็ตาม การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าอื่นจนนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนหรือไม่ จะต้องพิจารณาส่วนประกอบของเครื่องหมายการค้าทั้งหมดรวมกันข้อความที่จำเลยกล่าวนั้นปรากฏว่าเป็นข้อความเพียงสั้น ๆ ปนอยู่กับข้อความทั้งหมดซึ่งมีเป็นจำนวนมากในสลากเครื่องหมายการค้า ซึ่งข้อความทั้งหมดนั้นเหมือนกันกับข้อความในเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.๔ ของโจทก์ทุกตัวอักษร แม้กระทั่งลักษณะและขนาดของตัวอักษรก็เหมือนกัน โอกาสที่ประชาชนจะสังเกตและแยกแยะข้อแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยจึงไม่สามารถกระทำได้โดยง่าย กรณีถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตราวัวแดงดีกว่าจำเลยต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอให้แก่โจทก์นั้น เป็นการบังคับบุคคลที่มิได้เป็นคู่ความในคดี และโจทก์ก็สามารถจัดการในเรื่องนี้ได้เองอยู่แล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการไม่ถูกต้อง สมควรแก้ไขในเรื่องนี้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอที่ ๑๐๖๗๕๕ ให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.