ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบังคับคดีและการตั้งผู้จัดการทรัพย์สินตามมาตรา 307 ต้องมีรายได้จากทรัพย์สินนั้นจริง
แม้ในฎีกาจะระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ยื่นฎีกา ซึ่งโจทก์แก้ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิฎีกาก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาว่าการโต้แย้งเป็นข้อพิพาทในคดีนี้ สืบเนื่องจากการยึดที่ดินของจำเลยที่ 2และจำเลยที่ 2 ได้คัดค้านมาโดยตลอด เนื้อหาในฎีกาก็เป็นการอ้างสิทธิของจำเลยที่ 2 ว่าศาลควรให้โอกาสแก่จำเลยดำเนินการจัดการทรัพย์สินที่ถูกยึด ใจความและเหตุผลน่าจะเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ทนายความที่ดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนถึงชั้นฎีกาแทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ก็เป็นทนายความผู้เรียงฎีกาคนเดียวกัน การระบุชื่อของจำเลยที่ 1 ว่าเป็นผู้ฎีกาตามแบบพิมพ์ จึงเป็นข้อผิดหลง ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วจำเลยที่ 2 เป็นผู้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิฎีกาจึงเป็นอันตกไป การที่จะร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์ในการประกอบกิจการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307จะต้องเป็นกรณีที่ตัวอสังหาริมทรัพย์นั้นเองในปัจจุบันมีรายได้ประจำปีจากการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกสิกรรมของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพราะการนำยึดอสังหาริมทรัพย์ที่มีลักษณะดังนี้ออกขายทอดตลาดโดยตรง อาจนำความเสียหายมาสู่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือฝ่ายลูกหนี้ตามคำพิพากษาทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ โดยเฉพาะลูกหนี้ตามคำพิพากษาอาจสูญเสียทรัพย์สินที่เคยใช้ประกอบอาชีพและมีรายได้ที่ได้รับ โดยสม่ำเสมอเป็นประจำดังนั้น บทบัญญัติในวิธีการบังคับคดีจึงให้โอกาสแก่คู่ความที่จะเลือกใช้วิธีการบังคับคดีตามมาตรา 307 ซึ่งเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็อาจได้รับชำระหนี้ของตนได้เต็มตามจำนวนจนเป็นที่พอใจ เมื่อทรัพย์สินที่ถูกนำยึดไม่มีรายได้หรือมีการประกอบการอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมในขณะนั้นตามหลักเกณฑ์ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307 ดังกล่าวข้างต้น จึงไม่อาจร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์ในการประกอบกิจการได้