โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 9,874,471.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 490,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน 1,370,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.75 ต่อปี ของต้นเงิน 690,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2549 โจทก์ออกหนังสือคํ้าประกันห้างหุ้นส่วนจำกัด สุระขุขันธ์ ต่อการเคหะแห่งชาติเพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญาร่วมดำเนินกิจการโครงการบ้านเอื้ออาทร จังหวัดอุทัยธานี ภายในวงเงิน 10,184,000 บาท โดยมีนายอภิสิทธิ์ หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างฯ จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 17443 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เป็นประกันหนี้ของห้างฯ ต่อโจทก์ในวงเงิน 2,650,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย การเคหะแห่งชาติฟ้องห้างฯ และโจทก์ให้รับผิดตามสัญญาร่วมดำเนินกิจการโครงการบ้านเอื้ออาทร จังหวัดอุทัยธานี และสัญญาค้ำประกัน ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ห้างฯ และโจทก์ชำระเงินแก่การเคหะแห่งชาติ โจทก์ชำระเงิน 14,665,702.40 บาท แก่การเคหะแห่งชาติตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางแล้ว นายอภิสิทธิ์ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายปฏิวัติ เป็นผู้จัดการมรดกของนายอภิสิทธิ์ ต่อมากรมสรรพากรมีประกาศให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 17443 เพื่อชำระหนี้ค่าภาษีอากรของห้างฯ และขายทอดตลาดโดยติดจำนองมีจำเลยเป็นผู้ซื้อได้เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2560 จำเลยวางเงินค่าซื้อทรัพย์ครบถ้วนแล้ว แต่มิได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์และไถ่ถอนจำนองจากโจทก์ โจทก์ฟ้องห้างฯ และนายปฏิวัติในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอภิสิทธิ์กับพวกให้รับผิดตามสัญญาคํ้าประกันและจำนอง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ.10499/2559 ของศาลจังหวัดศรีสะเกษ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้ห้างฯ ชำระเงินแก่โจทก์ และให้นายปฏิวัติในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอภิสิทธิ์ชำระเงิน 2,650,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่น จากกองมรดกของนายอภิสิทธิ์ออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนกว่าจะครบถ้วน ยกคำขอของโจทก์และคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 17443 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับจำนองแก่จำเลยหรือไม่ และจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้จำนองเพียงใด เห็นว่า จำเลยเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินจำนองจากการขายทอดตลาดของกรมสรรพากรโดยติดจำนองและชำระราคาครบถ้วนแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการดำเนินการทางทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการเพิกถอนการขายทอดตลาด ต้องถือว่าผู้จำนองเดิมไม่มีสิทธิในทรัพย์สินที่จำนองอีกต่อไป และจำเลยได้สิทธิในทรัพย์สินที่ซื้อโดยสมบูรณ์แล้ว แม้จำเลยยังมิได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ก็ตาม จำเลยจึงมีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ในฐานะผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองอันมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 12 หมวด 5 และโจทก์ผู้รับจำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองโดยบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองตามมาตรา 735 ที่แก้ไขใหม่ เมื่อโจทก์มีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองโดยชอบแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองภายในกำหนด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองแก่จำเลยได้ จำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองและควรทราบถึงภาระหนี้จำนองมาตั้งแต่ก่อนเข้าเป็นผู้ซื้อทรัพย์จำนองจึงต้องชำระหนี้จำนวนรวม 2,650,000 บาท พร้อมด้วยอุปกรณ์คือดอกเบี้ยของต้นเงินตามสัญญาจำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 715 ประกอบมาตรา 738 ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในคดีหมายเลขดำที่ ผบ.10499/2559 ของศาลจังหวัดศรีสะเกษ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้นายปฏิวัติ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอภิสิทธิ์ ผู้จำนองรับผิดชำระเงิน 2,650,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองจึงต้องรับผิดไม่เกินกว่าภาระหนี้จำนองของผู้จำนองดังกล่าว
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 2,650,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้าจำเลยไม่ชำระให้บังคับเอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากขายทอดตลาดได้เงินสุทธิล้ำจำนวนดังกล่าวให้คืนส่วนที่ล้ำแก่จำเลย ถ้าได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระแก่โจทก์อีก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ