โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 9,269,189.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 8,624,150 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่สังกัดจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่รับฟ้องจำเลยที่ 1 และมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 (ที่ถูก พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1) ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 คืนหน่วยลงทุนกองทุนเปิด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม 500,000 หน่วย สู่กองทรัพย์สินของนายไกร ลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 12526/2545 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อบังคับคดีนำออกขายทอดตลาดต่อไป หากจำเลยที่ 2 เพิกเฉยหรือไม่สามารถคืนหน่วยลงทุนพิพาทได้ ให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ราคาเป็นเงิน 7,565,000 บาท แก่กองทรัพย์สินของนายไกร พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด คือวันที่ 7 พฤศจิกายน 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชดใช้เงิน 7,565,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 2 จะชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวกลับคืนกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 12526/2545 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้เสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 12526/2545 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ นำยึดหน่วยลงทุนกองทุนเปิดธนาวรรณ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วันที่ออกใบหุ้น 3 กุมภาพันธ์ 2542 จำนวน 500,000 หน่วย ของนายไกร ลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าว และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายไกร เด็ดขาดแล้วในคดีหมายเลขแดงที่ ล.2702/2553 ของศาลล้มละลายกลาง โดยมีการประเมินราคาในวันยึดไว้ 7,565,000 บาท จากนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดโดยกำหนดนัดขายทอดตลาดไว้ 6 นัด นัดแรกวันที่ 7 พฤศจิกายน 2557 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สังกัดจำเลยที่ 2 ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 12526/2545 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ขายทอดตลาดหน่วยลงทุนพิพาทดังกล่าวไปในราคา 500,000 บาท ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดหน่วยลงทุนพิพาท ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและคดีถึงที่สุดแล้ว
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 สมคบกับบุคคลภายนอกโดยทุจริตในการซื้อขายหน่วยลงทุนพิพาท อันเป็นการกระทำความผิดอาญา จึงมิใช่เป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 6 เห็นว่า พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 6 บัญญัติว่า "ถ้าการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดในการนั้นเป็นการเฉพาะตัว ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง แต่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐไม่ได้" คดีนี้นายชนินทร์ พยานจำเลยที่ 2 ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีแพ่งกรุงเทพมหานคร 2 ขณะเกิดเหตุเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีเจ้าของสำนวนในการขายทอดตลาดหน่วยลงทุนพิพาท และตามสำเนาคำสั่งกรมบังคับคดีที่ 756/2558 เรื่อง ลงโทษไล่ข้าราชการออกจากราชการ ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2558 ที่จำเลยที่ 2 มีคำสั่งลงโทษไล่จำเลยที่ 1 ออกจากราชการก็ระบุว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และเที่ยงธรรม ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ และฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ด้วย บ่งชี้ชัดว่าการขายทอดตลาดหน่วยลงทุนพิพาทในคดีนี้เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 กระทำโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งของจำเลยที่ 2 ในการขายทอดตลาด หรือกระทำโดยทุจริต หรือแม้หากการกระทำของจำเลยที่ 1 จะเป็นความผิดอาญา ก็หามีผลทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่าศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดหน่วยลงทุนพิพาทแล้ว มีผลเสมือนกับไม่มีการขายทอดตลาดหน่วยลงทุนพิพาท บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม มีหน้าที่ต้องแก้ไขทะเบียนหน่วยลงทุนพิพาทกลับมาเป็นของนายไกร ผู้ถือหน่วยลงทุน เพื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะได้ดำเนินการขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ต่อไป ซึ่งหากมีการนำหน่วยลงทุนพิพาทออกขายทอดตลาดใหม่แล้วโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนำตามสิทธิต่อไป โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย เห็นว่า แม้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดหน่วยลงทุนพิพาทแล้ว แต่ได้ความจากคำเบิกความของนางสาวพญาวดี พยานจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกอบสำเนาคำแถลงผลการบังคับคดี ว่า หลังจากนายธนภัทร ซื้อหน่วยลงทุนพิพาทและโอนหน่วยลงทุนพิพาทเป็นของนายธนภัทรแล้ว นายธนภัทรนำหน่วยลงทุนพิพาทไปขายคืนให้แก่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน นายธนภัทรและบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไม่สามารถโอนหน่วยลงทุนพิพาทกลับมาเป็นของนาย ไกร ได้เนื่องจากเป็นหน่วยลงทุนในกองทุนเปิดซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเสนอซื้อหรือเสนอขายได้ตลอด ทำให้ไม่มีหน่วยลงทุนพิพาทหลงเหลืออยู่แล้ว จึงรับฟังได้ว่าไม่สามารถนำหน่วยลงทุนพิพาทขายทอดตลาดใหม่ได้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 12526/2545 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการสุดท้ายฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชดใช้เงิน 7,565,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยกลับคืนกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 12526/2545 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ทั้ง ๆ ที่คดีนี้เป็นมูลหนี้ละเมิดและเกิดขึ้นภายหลังจากลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งดังกล่าวถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วย่อมเป็นการไม่ชอบ และระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ข้อความที่บัญญัติขึ้นใหม่แทน ซึ่งมีผลให้กรณีที่ต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือบทกฎหมายอันชัดแจ้งให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี และกรณีหนี้เงิน ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี เว้นแต่เจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในระหว่างช่วงเวลาก่อนพระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยในค่าเสียหายที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ปัญหาทั้งสองประการดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหาย 7,565,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด (วันที่ 7 พฤศจิกายน 2557) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปีตามคำขอ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์