ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องคดีอาญาในศาลแขวง: การไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการขออนุญาตอัยการสูงสุดทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ขณะเกิดเหตุความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 (ก) มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง แม้ภายหลังขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดี มี พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ยกเลิก พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 แต่มาตรา 4 (1) ของกฎหมายใหม่ที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิด มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งสูงกว่าระวางโทษตามกฎหมายเก่าที่ใช้อยู่ในขณะเกิดเหตุ จึงต้องใช้ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 (ก) ซึ่งเป็นกฎหมายส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลย ตาม ป.อ. มาตรา 3 ส่วนความผิดฐานยักยอกที่โจทก์ฟ้องรวมกันมา ก็มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงเช่นกัน แม้ศาลอาญากรุงเทพใต้ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจรับพิจารณาคดีนี้จะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 19/1 แต่การพิจารณาพิพากษาก็ต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายวิธีพิจารณาคดีของคดีนั้น ๆ เมื่อคดีนี้เป็นคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง จึงต้องนำ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาใช้บังคับแก่คดี กล่าวคือ โจทก์จะต้องฟ้องคดีภายในกำหนดระยะเวลาผัดฟ้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 7 เมื่อปรากฏว่าโจทก์มิได้ขอผัดฟ้อง ในการฟ้องคดีโจทก์จึงต้องได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุด หรือพนักงานอัยการซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมายตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 9 แต่ไม่ปรากฏว่าอัยการสูงสุด หรือพนักงานอัยการซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมายได้อนุญาตให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง