โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาของ ส. มีบุตร 2 คนคือจำเลยที่ 1และ ฮ. โจทก์และสามีได้ทำหนังสือนาซา (พินัยกรรมตามกฎหมายอิสลาม)ยกที่ดินซึ่งเป็นสินสมรสส่วนของโจทก์และสามีคนละครึ่ง ให้แก่จำเลยที่ 1 ฮ. และจำเลยที่ 2 หลังจากนั้นโจทก์และสามีร่วมกันครอบครองเรื่องมาประมาณ 7 ปีมานี้ สามีโจทก์ถึงแก่ความตาย ที่ดินส่วนสามีโจทก์ตกทอดแก่จำเลยที่ 1 ฮ. และจำเลยที่ 2 คือที่ดินของสามีโจทก์ครึ่งหนึ่งซึ่งมี 7 แปลงเป็นของจำเลยที่ 1 3 แปลง อีก 4 แปลงจำเลยที่ 1 กับ ฮ. ได้รับมรดกร่วมกัน ภายหลังจำเลยที่ 1 กับ ฮ.ได้ตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินกัน 2 แปลง อีก 1 แปลง ฮ. ได้ขายส่วนของตนให้จำเลยที่ 1 อีกแปลงหนึ่ง จำเลยที่ 1 ยกส่วนของตนให้แก่โจทก์โจทก์กับจำเลยที่ 1 ร่วมกันครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน5 แปลงคนละครึ่ง ต่อมาในปี 2522 จำเลยที่ 1 ใช้ให้จำเลยที่ 2ไปแจ้งความเท็จต่อพนักงานที่ดินว่าที่ดินทั้ง 5 แปลงเป็นที่ดินที่จำเลยที่ 2 ได้รับยกให้จากจำเลยที่ 1 มารดาและ ย. บิดา ประมาณ 1 ปีและก่อนนี้บิดามารดาได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวมา 33 ปีแล้วเจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อจึงออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3ก.) ให้แก่จำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์เสียหายขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินทั้ง 5 แปลงครึ่งหนึ่ง และให้ลงชื่อโจทก์ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้ง5 ฉบับด้วย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของ ส. กับโจทก์ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 ทรัพย์สินตามหนังสือนาซาเป็นสินสมรสระหว่างบิดากับโจทก์จริง แต่บิดาได้กล่าววาจานาซาให้จำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียว ทรัพย์สินทั้งหมดรวม 8 อันดับที่ว่าเป็นส่วนหนึ่งของ ฮ. และที่ตกได้แก่จำเลยที่ 2 จึงเป็นโมฆะ เมื่อบิดาตายแล้วจำเลยที่ 1 ได้รับที่ดินตามหนังสือนาซา7 อันดับ อีก 8 อันดับที่เป็นโมฆะ เป็นทรัพย์มรดกที่โจทก์ จำเลยที่ 1 และ ฮ. ได้รับส่วนแบ่งตามกฎหมายอิสลาม จำเลยที่ 1 ให้โจทก์กับ ฮ. แบ่งกันคนละครึ่ง ทุกตนต่างครอบครองส่วนของตนด้วยเจตนาเป็นเจ้าของไม่มีผู้ใดแย่งการครอบครองของจำเลยที่ 1 ที่ดินส่วนของโจทก์ ฮ. สมคบกับ อ. สามีของตน โอนให้ อ. และ อ. นำไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นชื่อ อ. เมื่อจำเลยที่ 1 ทราบเรื่องก็ได้ว่ากล่าว อ. และ ฮ.
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์สละสิทธิครอบครองที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 แล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินทั้งห้าแปลงครึ่งหนึ่ง
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ช่วยกันทำกันในที่พิพาทด้วยกัน เมื่อ 8 ปีที่แล้ว โจทก์หยุดทำกินเพราะโจทก์ป่วย จำเลยที่ 1 กับสามีทำกินในที่พิพาทต่อไปโดยแบ่งผลประโยชน์ให้แก่โจทก์ แสดงว่าโจทก์มิได้สละการครอบครองที่พิพาทในส่วนของโจทก์ จำเลยที่ 1 คงครอบครองที่พิพาทแทนโจทก์อยู่ การที่จำเลยที่ 1 นำที่พิพาทส่วนของโจทก์ไปแลกเปลี่ยนกับนางอาบิเบาะก็ดี หรือจำเลยที่ 1 ยกที่พิพาทส่วนของโจทก์ให้จำเลยที่ 2 ไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) ก็ดีโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย การทำนิติกรรมดังกล่าวหาผูกพันโจทก์ไม่ โจทก์จึงมีสิทธิครอบครองที่พิพาทในส่วนของโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาที่ว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยสมัครใจหรือไม่ จำเลยทั้งสองมิได้กล่าวแก้อุทธรณ์ให้เป็นประเด็นไว้ในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์และไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้"
พิพากษายืน.