ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดนายจ้างต่อการเสียชีวิตของลูกจ้างจากการฝึกซ้อมกีฬา แม้ไม่มีวัตถุประสงค์ในกฎหมายจัดตั้ง
วัตถุประสงค์ของรัฐวิสาหกิจที่ระบุไว้ในกฎหมายจัดตั้งเป็นเพียงการกำหนดประเภทของกิจการ ซึ่งรัฐวิสาหกิจจะดำเนินการเท่านั้น งานของรัฐวิสาหกิจหาได้จำกัดขอบเขตอยู่เฉพาะเท่าที่ระบุไว้ดังกล่าวไม่ ดังนั้น แม้พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การฟอกหนัง พ.ศ. 2498 ไม่ได้กำหนดให้องค์การฟอกหนังมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการกีฬาก็ตาม แต่เมื่อผู้อำนวยการองค์การฟอกหนังมีนโยบายที่จะเชื่อมความสามัคคีระหว่างองค์การฟอกหนังกับรัฐวิสาหกิจอื่นโดยยอมรับการแข่งขันกีฬาเป็นสื่อสัมพันธ์แล้ว การกีฬาจึงเป็นงานอย่างหนึ่งขององค์การฟอกหนัง การที่ผู้อำนวยการองค์การฟอกหนังแต่งตั้งผู้ตายเป็นนักกีฬาตัวแทนขององค์การฯ โดยให้มีสิทธิฝึกซ้อม เมื่อใดก็ได้ภายในช่วงเวลาที่กำหนด ถือได้ว่าผู้ตายได้รับมอบหมายให้ทำงานแก่องค์การฟอกหนังแล้ว เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายขณะฝึกซ้อมกีฬาเนื่องจากออกกำลังกายเกินควร ย่อมเป็นกรณีผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง โจทก์ซึ่งเป็นทายาทจึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทน
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 54 วรรคหนึ่ง (4) และวรรคสาม กับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดการจ่ายค่าทดแทน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 แก้ไขโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดการจ่ายค่าทดแทน (ฉบับ ที่ 2) ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2525 ข้อ 4 ที่กำหนดว่า กรณีจะเป็นประการใดก็ตาม ค่าทดแทนตามข้อ 54 วรรคสาม แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ต้องไม่ต่ำกว่าเดือนละหนึ่งพันบาทและไม่เกินเดือนละหกพันบาทมีความหมายว่า กรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างนั้น นายจ้างต้องจ่ายค่าทดแทนร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน แต่ต้องไม่ต่ำกว่าเดือนละหนึ่งพันบาทและไม่เกินเดือนละหกพันบาทมีกำหนดห้าปี
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดการจ่ายค่าทดแทนดังกล่าวมีสภาพใช้บังคับอย่างกฎหมาย ศาลต้องรู้เอง แม้จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ ศาลก็ไม่มีอำนาจพิพากษาให้นายจ้างต้องรับผิดเกินกว่าบทบัญญัติของกฎหมาย