โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2544 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งที่ 12/2544 ให้ยุบพรรคเสรีธรรม ซึ่งเป็นพรรคการเมืองตามกฎหมาย และนายทะเบียนพรรคการเมืองได้มีประกาศคำสั่งยุบพรรคเสรีธรรม โดยรวมเข้ากับพรรคไทยรักไทย และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2544 เวลากลางวัน จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2544 เวลากลางวัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่กำหนดให้หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมืองและคณะกรรมการสาขาพรรคของพรรคเสรีธรรมจะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อนายทะเบียน จำเลยซึ่งเป็นกรรมการสาขาพรรคของพรรคเสรีธรรม ตำบลคอนสาร อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งยุบไปดังกล่าว และถือว่าเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามกฎหมายแล้วไม่ดำเนินการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อนายทะเบียน อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 22 (5), 42, 65, 84 ให้จำเลยชำระค่าปรับไม่เกินวันละ 500 บาท นับแต่วันฝ่าฝืนจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 22 (5) วรรคหนึ่ง, 42 วรรคหนึ่ง 65 (3) วรรคหนึ่ง, 84 ลงโทษปรับ 10,000 บาท และปรับอีกวันละ 100 บาท ตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง (นับแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2544) จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 5,000 บาท และปรับอีกวันละ 50 บาท ตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง (นับถึงวันฟ้องเป็นเงิน 19,400 บาท) และให้ชำระค่าปรับอีกวันละ 50 บาท นับแต่วันถัดจากมีคำพิพากษาจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 22 (5) วรรคหนึ่ง, 42 วรรคหนึ่ง, 65 (3) (4) วรรคหนึ่ง, 84 ให้ปรับจำเลยเป็นรายวัน วันละ 100 บาท ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงปรับวันละ 50 บาท นับแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2544 จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นสมาชิกของพรรคเสรีธรรมและเป็นกรรมการสาขาพรรคเสรีธรรมเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2544 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคเสรีธรรมโดยรวมเข้ากับพรรคไทยรักไทย และนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ประกาศคำสั่งดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 22 (5) บัญญัติความว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงเมื่อพรรคการเมืองที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกเลิกหรือยุบไป และมาตรา 65 (4) บัญญัติความว่า พรรคการเมืองย่อมเลิกหรือยุบด้วยเหตุที่มีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมือง ดังนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคเสรีธรรมแล้ว เป็นผลให้สมาชิกภาพของจำเลยและตำแหน่งกรรมการสาขาพรรคของจำเลยสิ้นสุดลงในวันที่ 6 กันยายน 2544 และจำเลยมีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งกรรมการในพรรคการเมืองตามมาตรา 42 วรรคหนึ่งของพระราชบัญญัติเดียวกันนี้ แต่จนถึงวันฟ้อง (วันที่ 30 ตุลาคม 2545) จำเลยก็ยังมิได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จำเลยจึงมีความผิดเมื่อพ้นกำหนด 30 วันดังกล่าว คือ มีความผิดตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2544 ซึ่งมีบทลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้มาตรา 84 ระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 500 บาท ตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง และระวางโทษดังกล่าวมีอายุความเพียง 1 ปี ตามอายุความคดีอาญาทั่วไปในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 วรรคหนึ่ง (5) มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ความผิดและกฎหมายที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายบทเดียว และตราบใดที่จำเลยยังไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ก็ยังเป็นความผิดต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา ฟ้องโจทก์จึงไม่ขายอายุความนั้น เห็นว่า ลักษณะสำคัญของความผิดต่อเนื่องจะต้องเป็นความผิดที่มีทั้งการกระทำและเจตนาประกอบกันอยู่ตลอดเวลาที่การกระทำนั้นยังปรากฏอยู่ คดีนี้กฎหมายบังคับให้จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติภายในกำหนดระยะเวลาหนึ่ง เมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดดังกล่าวจำเลยก็จะมีความผิดทันที จำเลยมิได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิ้นฯ ภายในวันที่ 6 ตุลาคม 2544 จำเลยจึงมีความผิดตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2544 การกระทำโดยการงดเว้นและเจตนามิได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินฯ สำเร็จเป็นความผิดเกิดขึ้นและสิ้นสุดลงเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่กำหนด เป็นความผิดธรรมดาที่เกิดจากการกระทำครั้งเดียว กฎหมายมิได้บัญญัติให้แม้ภายหลังจากนั้นก็ยังคงมีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินฯอยู่ การกระทำของจำเลยจึงมิใช่ความผิดต่อเนื่อง ส่วนการที่จำเลยยังคงมิได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิ้นฯ ต่อมาถึงวันฟ้องเป็นเพียงผลของการกระทำโดยการงดเว้นดังกล่าวเท่านั้น ส่วนที่ความผิดดังกล่าวมีระวางโทษให้ปรับเป็นรายวันต่อไปอีกตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องนั้นเป็นเพียงบทกำหนดโทษเป็นบทบังคับคดีให้ผู้กระทำความผิดที่มิได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินฯนั้นให้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินฯ ต่อนายทะเบียนพรรคให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยเร็ว เมื่อมิใช่ความผิดต่อเนื่องอายุความจึงเริ่มนับแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2544 ที่จำเลยมีความผิด โจทก์ฟ้องจำเลยวันที่ 30 ตุลาคม 2545 เกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยกระทำความผิด ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เมื่อฟ้องโจทก์ขาดอายุความโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ทั้งคดี ต้องพิพากษายกฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้พิพากษายกฟ้อง โดยพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษปรับจำเลยเป็นรายวันต่อไปจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องนั้น ไม่ชอบ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นอ้างในศาลล่างทั้งสองและมิได้ฎีกาขึ้นมาในชั้นฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกปัญหาอำนาจฟ้องขึ้นวินิจฉัยและยกฟ้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225"
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.