โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 265, 268, 352 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 11,313,235.45 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายที่ 1
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณากลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตตำบลบ้านสระ ผู้เสียหายที่ 1 นายนัด ผู้เสียหายที่ 2 นางพังทม ผู้เสียหายที่ 3 นางระเบียบ ผู้เสียหายที่ 4 นางแสนสุข ผู้เสียหายที่ 5 นางพเยาว์ ผู้เสียหายที่ 6 นายวิเชียร ผู้เสียหายที่ 7 นายวิเชียร ผู้เสียหายที่ 8 นางเต็ม ผู้เสียหายที่ 9 นายรุ่งเรือง ผู้เสียหายที่ 10 นางละเอียด ผู้เสียหายที่ 11 นางจิรฐา ผู้เสียหายที่ 12 นางเรณู ผู้เสียหายที่ 13 นายจำเนียร ผู้เสียหายที่ 14 นางเข็มทราย ผู้เสียหายที่ 15 นางจำเนียร ผู้เสียหายที่ 16 นางลำพึง ผู้เสียหายที่ 17 นางไสว ผู้เสียหายที่ 18 นายบุญราช ผู้เสียหายที่ 19 นายเขมชาติ ผู้เสียหายที่ 21 นางเฉลิม ผู้เสียหายที่ 22 นางเฉียบ ผู้เสียหายที่ 23 นายสำราญ ผู้เสียหายที่ 24 และนายทุเรียน ผู้เสียหายที่ 25 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต โดยให้เรียกผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 19 ว่า โจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 19 และเรียกผู้เสียหายที่ 21 ถึงที่ 25 ว่า โจทก์ร่วมที่ 20 ถึงที่ 24 ตามลำดับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 (เดิม), 268 วรรคแรก, 352 วรรคแรก (เดิม) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ จำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสารสิทธิปลอม ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 (เดิม) แต่กระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง จำคุกคนละ 1 ปี รวม 9 กระทง เป็นจำคุกคนละ 9 ปี รวมจำคุกจำเลยทั้งสองมีกำหนด 11 ปี ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 11,313,235.45 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 (เดิม), 352 วรรคแรก (เดิม) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ จำคุกคนละ 6 เดือน รวม 9 กระทง เป็นจำคุกคนละ 54 เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุกในความผิดฐานร่วมกันยักยอกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุกคนละ 2 ปี 54 เดือน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 11,313,235.45 บาท แก่สมาชิกทั้งหมดในขณะเกิดเหตุของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตตำบล บ. ตามสัดส่วนของสมาชิกแต่ละรายที่ปรากฏหลักฐาน ให้ยกฟ้องในความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอมตามฟ้องข้อ 1.7 1.23 1.25 1.27 1.29 1.31 1.37 1.39 และ 1.41 ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วมที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกา อนุญาตให้ฎีกา และฎีกาของจำเลยทั้งสองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563 จำเลยทั้งสองต้องยื่นฎีกาภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยทั้งสองจะยื่นฎีกาได้ มีนายณรงค์ในฐานะทนายความจำเลยทั้งสอง ทำคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาโดยนายณรงค์ลงชื่อในฐานะทนายความจำเลยทั้งสอง ผู้เรียงและพิมพ์ และมอบฉันทะให้นายนราวุฒิ เป็นสมียนทนายมายื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาและศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาออกไปถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2563 ต่อมานายวัชระ ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาแก่จำเลยทั้งสองตามคำร้องขอรับรองฎีกาลงวันที่ 25 ธันวาคม 2563 และศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยทั้งสองโดยนายสาโรจน์ ทนายความจำเลยทั้งสองลงชื่อไว้ในคำร้องและฎีกา โดยไม่ปรากฏในสำนวนว่า จำเลยทั้งสองได้ตั้งแต่งนายณรงค์เป็นทนายความจำเลยทั้งสองไว้ และนายณรงค์มิได้ทำหน้าที่เป็นทนายความจำเลยทั้งสองมาก่อนที่จะมีการยื่นฎีกา ดังนั้น นายณรงค์จึงไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใช้สิทธิในการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาแทนจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60, 61 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 ทั้งการที่จำเลยทั้งสองตั้งแต่งนายสาโรจน์เป็นทนายความจำเลยทั้งสองและนายสาโรจน์เคยมอบฉันทะให้นายณรงค์เป็นเสมียนทนายทำการแทนในกิจการต่อไปนี้ คือ ยื่นคำร้องขอขยายเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่ 3 รับทราบคำสั่งศาล รับทราบกำหนดวันนัด รับเอกสารจากศาล ตรวจสำนวนรวมถึงให้ถ้อยคำแถลงต่อศาลและแก้ไขข้อความที่พิมพ์ผิดพลาดได้ ตามใบมอบฉันทะลงวันที่ 24 มกราคม 2563 นั้น ก็ไม่ทำให้นายณรงค์เสมียนทนายจำเลยทั้งสองมีอำนาจทำคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา เพราะทนายความอาจมอบอำนาจให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งทำการแทนได้ในกิจการที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 64 เท่านั้น โดยไม่รวมถึงกิจการสำคัญเกี่ยวกับคดีซึ่งโดยสภาพเป็นที่เห็นได้ว่าทนายความจะต้องกระทำด้วยตนเองเช่นการทำคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา ทำให้คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาของจำเลยทั้งสองไม่ชอบ มีผลทำให้คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ฎีกาและฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ศาลชั้นต้นสั่งรับมาจึงเป็นฎีกาที่ยื่นเกินกำหนดระยะเวลาฎีกาไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาและอนุญาตให้ฎีกาแก่จำเลยทั้งสอง และยกฎีกาของจำเลยทั้งสอง