โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2เป็นผู้ได้รับมอบหมายจากกรรมการผู้มีอำนาจจัดการแทนให้มีอำนาจทำการแทนในกิจการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ได้หักเงินเดือนของโจทก์ชดใช้ราคาสินค้าซึ่งจำเลยที่ 1 เรียกเก็บจากลูกค้าไม่ได้ไป 78,000 บาท ต่อมาจำเลยไม่จ่ายเงินเดือนและรายได้ต่าง ๆ ให้โจทก์จำนวนประมาณ 28,000 บาทโดยอ้างว่าโจทก์ยักยอกเงินของบริษัทซึ่งไม่เป็นความจริงและไม่ยอมให้โจทก์ทำงานต่อไป เป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด โจทก์ได้รับเงินเดือนสุดท้ายเดือนละ 11,600บาท จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย 69,600 บาท และเงินเดือนอีก 1 เดือนในการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนเลิกจ้าง ทั้งจำเลยให้โจทก์ออกจากงานโดยไม่มีความผิดถือว่าเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม โจทก์จึงขอคิดค่าเสียหายในข้อนี้ 50,000 บาท ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้เงินรวม 237,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 หักเงินโจทก์ไปโดยหักสองเดือนครั้ง เป็นเงิน 60,486 บาท เท่านั้น และเป็นหนี้เกี่ยวกับการทำงาน เพราะโจทก์ขายสินค้าของจำเลยที่ 1 ให้โรงเรียนอนุบาลภูเก็ตแล้วไม่สามารถเรียกเก็บค่าสินค้าได้ และโจทก์ทำบันทึกข้อตกลงว่าให้จำเลยที่ 1 เรียกเก็บเงินดังกล่าวจากโจทก์แทนทุก 2 เดือนต่อ 1 ใบเสร็จรับเงิน จำเลยที่ 2 เข้าทำการตรวจสอบหนี้สินต่าง ๆพบว่า ใบเสร็จรับเงินของลูกค้าบางส่วนหายไป จึงแจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์ยอมรับด้วยวาจาต่อจำเลยที่ 2 ว่า ใบเสร็จรับเงินบางส่วนที่หายไปนั้น โจทก์นำไปเรียกเก็บเงินจากลูกค้ามาได้แล้วแต่นำเงินไปใช้หมดไม่ได้นำส่งบริษัท จำเลยที่ 2 จึงแจ้งให้โจทก์ทราบว่าโจทก์อาจถูกดำเนินคดีเป็นความผิดฐานยักยอกได้ ทำให้โจทก์เกิดความกลัวไม่ยอมกลับเข้าทำงานในบริษัทของจำเลยที่ 1 เอง จำเลยที่ 1มิได้บอกเลิกจ้างโจทก์ การกระทำของโจทก์เป็นการละทิ้งงานไปเองโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยจำนวน30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกฟ้อง
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "โจทก์อุทธรณ์ว่า การเรียกเก็บเงินค่าสินค้าที่โจทก์ขายให้โรงเรียนอนุบาลภูเก็ตไม่ได้ มิใช่ความผิดของโจทก์หรือเกิดจากความประมาทเลินเล่อในการทำงานของโจทก์จึงมิใช่หนี้ที่เกิดขึ้นอันเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้อื่น ข้อตกลงที่จำเลยให้โจทก์ทำไว้จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 30 ตกเป็นโมฆะ จำเลยจึงไม่มีสิทธิหักเงินค่าสินค้าดังกล่าวได้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า หนี้ที่จำเลยที่ 1 นำมาหักค่าจ้างของโจทก์นั้นศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เป็นหนี้ที่เกิดจากการที่โจทก์ขายสินค้าของจำเลยที่ 1 ให้แก่โรงเรียนอนุบาลภูเก็ตแล้วเรียกเก็บเงินไม่ได้ ในที่สุดโจทก์ทำบันทึกตกลงไว้ว่าให้จำเลยที่ 1 เรียกร้องเงินค่าสินค้ารายโรงเรียนอนุบาลภูเก็ตจากโจทก์ทุก ๆ 2 เดือนต่อ 1 ใบเสร็จรับเงิน โดยให้ถือว่าพนักงานขายได้รับชำระเงินจากลูกค้ารายนี้แล้ว และใบเสร็จทุกฉบับถ้าพนักงานขายเรียกเก็บเงินได้ก็ไม่ต้องนำส่งบริษัทจากข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมถือได้ว่าหนี้รายนี้เป็นหนี้ที่เกิดจากการปฏิบัติงานตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 โดยตรง หาใช่หนี้อื่นตามความหมายแห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่16 เมษายน 2515 ข้อ 30 ไม่ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธินำหนี้รายนี้มาหักจากค่าจ้างที่ต้องจ่ายให้แก่โจทก์ได้ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยดังกล่าวไม่ตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าจำเลยมีสิทธิหักหนี้ได้ ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น ต่อไปจะได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1อุทธรณ์ว่า ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำเบิกความของโจทก์เองตอบทนายจำเลยว่า ได้เก็บเงินจากโรงพยาบาลรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2531 แต่โจทก์กลับรายงานลงในเอกสารหมายล. 16 ว่าฝากบิลไว้เพื่อเรียกเก็บเงินจากลูกค้ารายโรงพยาบาลรือเสาะนี้ซึ่งถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงหรือไม่ โจทก์ไม่ทราบ เพราะเมื่อกลับมาก็จะเอาเงินจำนวนนี้มาคืนบริษัท การรายงานเท็จเช่นนี้โจทก์เห็นว่าเป็นความผิด ข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ได้ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายอย่างร้ายแรง และการที่โจทก์เก็บเงินค่าสินค้าได้แล้วไม่นำส่งให้จำเลยถือได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเคราะห์แล้วเห็นว่าในชั้นยื่นคำให้การต่อสู้คดี จำเลยที่ 1 ให้การเพียงว่า "การกระทำของโจทก์เป็นการละทิ้งงานไปเองโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยแต่อย่างใด เพราะเหตุว่าจำเลยที่ 1ยังมิได้บอกเลิกจ้างโจทก์ "อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย"
พิพากษายืน