โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียนก-6179 นครราชสีมา จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-4140 ชลบุรีวันที่ 30 พฤศจิกายน 2529 เวลาประมาณ 9.30 นาฬิกา จำเลยที่ 1ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-4140 ชลบุรี ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 โดยประมาทชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก-6179นครราชสีมา ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามให้การว่า นายตุ๋ยเป็นคนขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-4140 ชลบุรี ขณะเกิดเหตุ โดยมีจำเลยที่ 1 นั่งอยู่ด้านซ้ายคนขับ เหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทของนางสาวกนกวรรณ อภิรัฐไพโรจน์ ผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียนก-6179 นครราชสีมา ซึ่งขับรถมาด้วยความเร็วสูง จำเลยที่ 2มิใช่ผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-4140 ชลบุรี ในขณะเกิดเหตุเพราะนายปัญญา ทองมิตร ได้เช่ารถคันดังกล่าวจากจำเลยที่ 2ไปมีกำหนด 1 ปี จำเลยที่ 3 มิได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 125,375 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันที่27 มีนาคม 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน159,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่27 มีนาคม 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์เพียงข้อเดียวว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน80-4140 ชลบุรี คันเกิดเหตุ จึงเข้าข้อสันนิษฐานของบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 และต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาว่า จำเลยที่ 2มีชื่อเป็นเจ้าของรถในทะเบียนเท่านั้น ขณะที่เกิดเหตุจำเลยที่ 2ไม่ได้นั่งไปในรถด้วย เห็นว่าข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 เป็นกรณีที่เกี่ยวกับผู้ครอบครองหรือควบคุมดูแลรถยนต์ไปเกิดเหตุโดยตรงซึ่งจะต้องรับผิดชอบต่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งที่มิได้ครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล จำเลยที่ 2 ไม่ได้ครอบครองหรือควบคุมดูแลรถยนต์ขณะที่เกิดเหตุ เป็นแต่เพียงมีชื่อเป็นเจ้าของในทะเบียนเท่านั้น ทั้งเป็นกรณีที่ยานพาหนะที่เดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลชนกัน จึงไม่ต้องด้วยข้อสันนิษฐานของบทกฎหมายดังกล่าว"
พิพากษายืน