โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยทั้งสิบเจ็ดร่วมกันชำระเงิน 728,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่พรรค ด. รับเงินดังกล่าวไปในแต่ละงวด ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 252,695.70 บาท รวมเป็นเงิน 980,695.70 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 17 ร่วมกันชำระเงิน 9,216.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ได้รับเงินไป ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง 2,533.87 บาท รวมเป็นเงิน 11,750.23 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 9 และที่ 10 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 11 ถึงที่ 17 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสิบเจ็ดร่วมกันชำระเงิน 725,471.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 725,471.84 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 17 ร่วมกันชำระเงิน 9,216.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 9,216.36 บาท โดยให้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 ให้จำเลยที่ 11 ถึงที่ 17 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2559 ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 8 และที่ 9 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 2 มีนาคม 2559 ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 7 เมษายน 2559 และให้จำเลยที่ 7 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 8 เมษายน 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 17 จะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสิบเจ็ดร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสิบเจ็ดให้เป็นพับ แต่จำเลยที่ 11 ถึงที่ 17 ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกของนายทองแดง ที่ตกทอดได้แก่ตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อปี 2556 พรรค ด. มีกรรมการบริหารพรรค ได้แก่ จำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้าพรรค จำเลยที่ 2 และนายทองแดง เป็นรองหัวหน้าพรรค จำเลยที่ 3 เป็นเลขาธิการพรรค จำเลยที่ 4 และที่ 10 เป็นรองเลขาธิการพรรค จำเลยที่ 5 เป็นเหรัญญิกพรรค จำเลยที่ 6 เป็นโฆษกพรรค จำเลยที่ 7 และที่ 8 เป็นกรรมการบริหารพรรค จำเลยที่ 9 เป็นนายทะเบียนพรรค และปี 2557 พรรค ด. มีกรรมการบริหารพรรค ได้แก่ จำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้าพรรค จำเลยที่ 2 ที่ 8 และนายทองแดงเป็นรองหัวหน้าพรรค จำเลยที่ 3 เป็นเลขาธิการพรรค จำเลยที่ 4 เป็นรองเลขาธิการพรรค จำเลยที่ 5 เป็นเหรัญญิกพรรค จำเลยที่ 6 เป็นโฆษกพรรค จำเลยที่ 7 เป็นกรรมการบริหารพรรค จำเลยที่ 9 เป็นนายทะเบียนพรรค คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาเห็นชอบแผนการดำเนินงานของพรรค ด. และอนุมัติเงินสนับสนุนประจำปี 2556 แก่พรรค ด. รวมเป็นเงิน 728,000 บาท พรรค ด. เบิกและรับเงินดังกล่าวไปแล้ว รวมเป็นเงิน 728,000 บาท ต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาเห็นชอบแผนการดำเนินงานของพรรค ด. อนุมัติเงินสนับสนุนประจำปี 2557 ให้เป็นเงิน 733,930 บาท ต่อมาวันที่ 24 มิถุนายน 2558 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรค ด. และพรรค ด. ไม่สามารถจัดส่งเอกสารหลักฐานประกอบการใช้จ่ายเงินสนับสนุนประจำปี 2556 ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2557 จึงต้องคืนเงินสนับสนุนพรรคดังกล่าวทั้งหมด ต่อมาพรรค ด. ส่งคืนเงินแก่กองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมืองบางส่วนเป็นเงิน 2,528.16 บาท จึงต้องคืนเงินสนับสนุนประจำปี 2556 เป็นเงิน 725,471.84 บาท และพรรค ด. ใช้จ่ายเงินสนับสนุนพรรคประจำปี 2557 ไม่ถูกต้อง จึงต้องคืนเงินสนับสนุนประจำปี 2557 เป็นเงิน 9,216.36 บาท ก่อนฟ้องคดีนี้นายทองแดงถึงแก่ความตาย มีจำเลยที่ 11 ถึงที่ 17 พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันเป็นทายาทโดยธรรม
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่กำหนดให้จำเลยทั้งสิบเจ็ดร่วมรับผิดคืนเงินสนับสนุนประจำปี 2556 จำนวน 725,471.84 บาท และให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 17 ร่วมรับผิดคืนเงินสนับสนุนประจำปี 2557 จำนวน 9,216.36 บาท โดยให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องและนับแต่วันผิดนัดตามลำดับนั้น ชอบหรือไม่ เห็นว่า เงินสนับสนุนของพรรคการเมืองที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองนั้นเป็นเงินที่มอบให้แก่พรรคการเมืองต่าง ๆ ที่มีสิทธิได้รับนำไปใช้ในการพัฒนาพรรคการเมืองและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองโดยโจทก์ทั้งสองมีหน้าที่ควบคุมดูแลการใช้จ่ายเงินดังกล่าวให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงานและแผนการใช้เงินซึ่งหากใช้ไปโดยชอบและสามารถแสดงหลักฐานการใช้จ่ายต่อโจทก์ทั้งสองได้ พรรคการเมืองนั้นก็ไม่ต้องคืนเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองแก่กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองแต่อย่างใด แต่หากเป็นการใช้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ที่ 1 ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองก็มีสิทธิเรียกคืนเงินในส่วนที่ใช้ไปโดยไม่ชอบคืนส่งเข้ากองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองได้ สิทธิในการเรียกคืนจึงเกิดมีขึ้นเมื่อมีการใช้เงินโดยมิชอบหรือเมื่อพรรคการเมืองนั้นถูกยุบแล้วแต่กรณี ซึ่งในส่วนเงินสนับสนุนของพรรค ด. ประจำปี 2557 นั้น แม้โจทก์ทั้งสองจะมีสิทธิเรียกคืนเงินในส่วนที่ใช้ไปโดยไม่ชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 84 ที่บัญญัติว่า "ในกรณีที่พรรคการเมืองใดได้รับเงินสนับสนุนไปแล้ว ถ้าต่อมาปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองนั้น ไม่ดำเนินการตามมาตรา 44 มาตรา 45 และมาตรา 46 หรือมาตรา 47 ให้นายทะเบียนเรียกคืนเงินสนับสนุนพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย และให้นายทะเบียนนำเงินที่เรียกคืนส่งเข้ากองทุนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการเลือกตั้งประกาศกำหนด ก็ตาม แต่สิทธิในการเรียกคืนเงินดังกล่าวซึ่งเป็นหนี้ที่มิได้กำหนดวันชำระหนี้ไว้ โจทก์ชอบที่จะทวงถามให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 และนายทองแดงชำระหนี้ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 วรรคหนึ่ง หากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 และนายทองแดงไม่ชำระจึงจะตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดให้แก่โจทก์ทั้งสองตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 224 วรรคหนึ่ง (เดิม) ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า โจทก์ที่ 1 มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 และนายทองแดงให้คืนเงินและส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับหนังสือ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 และนายทองแดงได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วไม่คืนเงิน โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ผิดนัดคือวันถัดจากวันครบกำหนดตามหนังสือดังกล่าวเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองในส่วนนี้จึงชอบแล้ว ส่วนการคืนเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองประจำปี 2556 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากคำฟ้องและจากหนังสือฉบับลงวันที่ 29 เมษายน 2557 ที่โจทก์ที่ 2 มีไปถึงพรรค ด. ว่า โจทก์ที่ 2 อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 82 ในการทวงถามให้พรรค ด. ส่งมอบเอกสารหลักฐานเพื่อประกอบรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมือง ซึ่งตามมาตรา 82 บัญญัติให้นำความในมาตรา 42 วรรคสอง ว่าด้วยการยุบพรรคการเมืองมาใช้บังคับกับกรณีการฝ่าฝืนมาตรา 82 โดยอนุโลม ต่อมาเมื่อพรรค ด. ไม่จัดส่งเอกสารดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 1 ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 42 วรรคสอง ดำเนินการเพื่อให้มีการยุบพรรค ด. หลังจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรค ด. เมื่อเป็นกรณีที่พรรค ด. ถูกยุบเพราะฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 82 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 ความรับผิดในการคืนเงินสนับสนุนของพรรค ด. จึงต้องนำบทบัญญัติมาตรา 85 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาใช้บังคับ ส่วนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และนายทองแดงซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค ด. อยู่ในช่วงปี 2556 จะต้องร่วมรับผิดกับพรรค ด. อย่างลูกหนี้ร่วมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 86 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันที่พรรค ด. ได้รับเงินไปจากคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ และเมื่อไม่ปรากฏว่าหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรค ด. โจทก์ทั้งสองอาศัยสิทธิตามบทบัญญัติมาตรา 85 ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และนายทองแดงคืนเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองที่พรรค ด. ได้รับไป เมื่อปี 2556 แล้ว แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และนายทองแดงไม่ชำระ โจทก์ทั้งสองก็ไม่อาจเรียกให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 11 ถึงที่ 17 ในฐานะทายาทนายทองแดงรับผิดชำระดอกเบี้ยในช่วงเวลาตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรค ด. จนถึงวันก่อนวันฟ้องได้ ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 17 รับผิดชำระดอกเบี้ยในส่วนเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองประจำปี 2556 ตั้งแต่วันฟ้องจึงชอบแล้วเช่นกัน ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น สำหรับที่จำเลยที่ 11 ถึงที่ 17 ยื่นคำแก้ฎีกาโดยอ้างว่าจำเลยที่ 11 ถึงที่ 17 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองนั้น เป็นการขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับศาลล่างทั้งสอง ซึ่งจะต้องทำเป็นคำฟ้องฎีกา จะขอมาในคำแก้ฎีกาหาได้ไม่ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปีหรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและกำหนดดอกเบี้ยให้ถูกต้องตามพระราชกำหนดดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสิบเจ็ดร่วมกันชำระเงิน 725,471.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2464 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 17 ร่วมกันชำระเงิน 9,216.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว โดยให้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2559 ให้จำเลยที่ 11 ถึงที่ 17 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 2 มีนาคม 2559 ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 8 และที่ 9 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 3 มีนาคม 2559 ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 8 เมษายน 2559 และให้จำเลยที่ 7 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 9 เมษายน 2559 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2464 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง อัตราดอกเบี้ยที่จำเลยแต่ละคนต้องชำระนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ