โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖, ๘๓ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๗
จำเลยให้การปฏิเสธ ต่อมาระหว่างสืบพยานโจทก์ จำเลยให้การใหม่ว่าได้ข่มขืนผู้เสียหายจริง แต่ไม่ได้ร่วมกันโทรมหญิง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๗๖, ๘๓ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน๒๕๑๔ จำคุก ๑๐ ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘คงจำคุก ๕ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๗๖ วรรคแรก จำคุก ๔ ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๒ ปี
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า ปัญหามีว่าการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะวรรคในมาตรา ๒๗๖ และแก้โทษด้วยนั้น เป็นการแก้ไขเล็กน้อยหรือเป็นการแก้ไขมาก ปัญหานี้ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่มีมติว่า ความผิดตามวรรคแรกและวรรคสองของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖ มีอัตราโทษขั้นต่ำและขั้นสูงแตกต่างกันมาก ประกอบกับคามผิดตามวรรคแรกนั้นเป็นความผิดที่อาจยอมความกันได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๑ ส่วนความผิดตามวรรคสองเป็นอาญาแผ่นดินมิอาจยอมความกันได้ ฉะนั้น การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้วรรคในกรณีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖ และแก้โทษด้วยนั้นจึงเป็นการแก้ไขมาก ไม่ต้องห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา มาตรา ๒๑๘ ดังนั้น โจทก์ย่อมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ฯลฯ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น