โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 279, 317
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นาง ถ. ผู้เสียหายที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันกระทำความผิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง
จำเลยไม่ให้การในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคหนึ่ง จำคุก 1 ปี และปรับ 30,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 15,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกคำร้องของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม อีกกระทงหนึ่งด้วย เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ที่ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 3 ปี 6 เดือน ไม่ลงโทษปรับและไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีส่วนแพ่งให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ 5 ตุลาคม 2563 ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นฎีกาว่า เด็กหญิง ส. ผู้เสียหายที่ 2 เกิดวันที่ 12 กรกฎาคม 2549 ขณะเกิดเหตุอายุ 13 ปี 8 เดือน อยู่ในความปกครองดูแลของนาง ถ. ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นย่าของผู้เสียหายทั้งสอง เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 เวลา 15 นาฬิกา ผู้เสียหายที่ 2 ขออนุญาตผู้เสียหายที่ 1 ไปรับประทานอาหารกับเด็กหญิง ข. และเด็กหญิง ม. ที่หมู่บ้าน โดยนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ไปด้วยกัน หลังจากรับประทานอาหารแล้ว นาย ณ. โทรศัพท์ชักชวนเด็กหญิง ข. ให้ไปพบ ผู้เสียหายที่ 2 เด็กหญิง ข. และเด็กหญิง ม. ไปพบนาย ณ. กับจำเลยที่ริมสระน้ำ จากนั้นไปที่กระท่อมนาในเขตท้องที่หมู่บ้าน เมื่อถึงกระท่อมนาที่เกิดเหตุหลังแรก จำเลยกับพวกและผู้เสียหายที่ 2 ดื่มสุราด้วยกัน จำเลยใช้แขนสองข้างกอดรัดเอวผู้เสียหายที่ 2 จูบ และใช้ปากดูดคอ ใช้มือทั้งสองข้างสอดเข้าใต้ชายเสื้อล้วงมือเข้าจับหน้าอกของผู้เสียหายที่ 2 หลังจากนั้นย้ายไปกระท่อมนาหลังอื่น ผู้เสียหายที่ 2 นอนอยู่ที่กระท่อมนาจนรุ่งเช้าจึงกลับบ้าน สำหรับความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิด จำเลยไม่อุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นประการแรกตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 หรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม กฎหมายบัญญัติโดยมีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองอำนาจของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็กมิใช่ตัวเด็กที่ถูกพราก และปกป้องมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวนหรือกระทำการอันใด ๆ อันเป็นการกระทบกระทั่งต่ออำนาจปกครองไม่ว่าโดยตรงหรือโดยปริยาย นอกจากนี้กฎหมายมิได้จำกัดคำว่า "พราก" โดยวิธีการอย่างใด และไม่ว่าเด็กจะเป็นฝ่ายออกจากบ้านเองหรือโดยมีผู้ชักนำหรือไม่มีผู้ชักนำ หากมีผู้กระทำต่อเด็กในทางเสื่อมเสียและเสียหายย่อมถือได้ว่าเป็นความผิด ดังนั้น แม้นาย ณ. เป็นผู้ชักชวนเด็กหญิง ข. ให้ไปหาที่สระน้ำ เด็กหญิง ข. ชักชวนผู้เสียหายที่ 2 กับพวกไปด้วย โดยจำเลยมิได้เป็นผู้ชักชวนผู้เสียหายที่ 2 ไปกระท่อมที่เกิดเหตุก็ตาม แต่การที่จำเลยร่วมเดินทางนั่งรถจักรยานยนต์ไปกับนาย ณ. โดยมีผู้เสียหายที่ 2 กับเพื่อนอีกสองคนขับรถจักรยานยนต์ไปยังกระท่อมนาที่เกิดเหตุด้วยกัน จากนั้นร่วมกันดื่นสุรา แล้วจำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 ล้วนเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า จำเลยมีเจตนาร่วมกับพวกพาผู้เสียหายที่ 2 ไปที่กระท่อมนาที่เกิดเหตุเพื่อกระทำอนาจาร อันเป็นการแยกผู้เสียหายที่ 2 ออกจากอำนาจการปกครองของผู้เสียหายที่ 1 แล้วโดยจำเลยไม่จำต้องเป็นผู้ชักชวนผู้เสียหายที่ 2 ด้วยตนเองดังที่จำเลยฎีกา สำหรับฎีกาข้ออื่นของจำเลยนอกจากนี้เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อย ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัย พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้มั่นคงว่า จำเลยเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานโดยปราศจากเหตุสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 แม้คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยโดยลำพังโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากผู้เสียหายที่ 2 อายุ 13 ปีเศษ ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 ผู้ปกครองซึ่งเป็นย่า เพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิด ก็มิใช่ข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญ เมื่อจำเลยไม่หลงต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามที่พิจารณาได้ความได้ ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานนี้ให้จำคุก 6 ปี นั้น หนักเกินไป เห็นสมควรกำหนดโทษของจำเลยเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อมาว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ได้ความตามบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลย ว่า ขณะดื่มสุราจำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 เพียงประมาณ 2 ถึง 3 นาที แล้วหยุดกระทำเนื่องจากจำเลยอายพวกที่ดื่มสุราด้วยกัน ประกอบกับจำเลยให้การรับสารภาพตลอดมา และพยายามบรรเทาความเสียหายโดยชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายที่ 2 จนไม่ติดใจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนและไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไปตามบันทึกการตกลงค่าสินไหมทดแทนท้ายคำแถลงประกอบคำรับสารภาพของจำเลยลงวันที่ 5 ตุลาคม 2563 นับว่าจำเลยรู้สำนึกในการกระทำความผิดแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อน เพื่อให้โอกาสจำเลยประพฤติตนเป็นพลเมืองดี จึงเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกให้สักครั้ง แต่เพื่อให้หลาบจำและไม่หวนกลับไปกระทำความผิดอีก จึงให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งและคุมความประพฤติจำเลยไว้ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 ฐานโดยปราศจากเหตุอันสมควร ร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี และปรับ 100,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน และปรับ 50,000 บาท เมื่อรวมกับโทษฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ที่ลดโทษแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นจำคุก 2 ปี 12 เดือน และปรับ 65,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 1 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งในชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4