คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งรวมการพิจารณา โดยให้เรียกนายศุภชัย เป็นจำเลยที่ 1 พระครูปลัดวิจารณ์ เป็นจำเลยที่ 2 นางสาวศรัณยา เป็นจำเลยที่ 3 นางจันทร์ฉาย เป็นจำเลยที่ 4 นางวันเพ็ญ เป็นจำเลยที่ 5 นายวัฒน์ชานนท์ เป็นจำเลยที่ 6 นายจิรเดช เป็นจำเลยที่ 7 บริษัท อ. เป็นจำเลยที่ 8 นายสัมฤทธิ์ เป็นจำเลยที่ 9
สำนวนแรก โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 119,631,404.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 119,020,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
สำนวนที่สอง โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ร่วมกันรับผิดชำระเงิน 10,641,756,796.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 9,522,533,049.50 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 6 ชำระเงิน 1,927,326,027.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 มีนาคม 2556 จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 7 ชำระเงิน 438,850,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 มีนาคม 2556 จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 8 ชำระเงิน 57,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 มีนาคม 2556 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 9 ชำระเงิน 12,300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 มีนาคม 2556 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 9 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ในระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยร่วม โดยอ้างว่านางผกามาศ ฯลฯ ต้องรับผิดต่อโจทก์ ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2558 วันที่ 13 ตุลาคม 2558 และวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลชั้นต้นอนุญาต โดยเรียกบุคคลดังกล่าวเป็นจำเลยร่วมที่ 1 ถึงที่ 32 ตามลำดับ
จำเลยร่วมที่ 1 ถึงที่ 12 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยร่วมที่ 13 และที่ 19 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยร่วมที่ 14 ถึงที่ 18 และจำเลยร่วมที่ 20 ถึงที่ 32 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ในระหว่างการพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 และขอถอนฟ้องจำเลยร่วมที่ 18 และที่ 30 ถึงที่ 32 ศาลชั้นต้นอนุญาต ให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 และจำเลยร่วมที่ 18 และที่ 30 ถึงที่ 32 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์ 9,642,164,453.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 119,020,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 สิงหาคม 2557) และของต้นเงิน 9,522,533,049.50 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 ตุลาคม 2557) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์เป็นเงิน 119,631,404.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 119,020,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 สิงหาคม 2557) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์เป็นเงิน 9,522,533,049.50บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 ตุลาคม 2557) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 8 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์เป็นเงิน 149,506,497 บาท ให้จำเลยที่ 9 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์เป็นเงิน 31,300,000 บาท ให้จำเลยร่วมที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์เป็นเงิน 10,581,850 บาท ให้จำเลยร่วมที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์เป็นเงิน 13,500,000 บาท ให้จำเลยร่วมที่ 6 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์เป็นเงิน 22,061,665 บาท ให้จำเลยร่วมที่ 7 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์เป็นเงิน 62,000,000 บาท ให้จำเลยร่วมที่ 8 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์เป็นเงิน 82,020,000 บาท ให้จำเลยร่วมที่ 9 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์เป็นเงิน 18,700,000 บาท ให้จำเลยร่วมที่ 10 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์เป็นเงิน 36,386,000 บาท ให้จำเลยร่วมที่ 11 และจำเลยร่วมที่ 12 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์เป็นเงิน 150,000,000 บาท ให้จำเลยร่วมที่ 13 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์ เป็นเงิน 2,179,000 บาท ให้จำเลยร่วมที่ 14 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์เป็นเงิน 30,000,000 บาท ให้จำเลยร่วมที่ 15 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์เป็นเงิน 31,756,680 บาท ให้จำเลยร่วมที่ 16 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์เป็นเงิน 367,400,000 บาท ให้จำเลยร่วมที่ 19 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์ เป็นเงิน 15,500,000 บาท ให้จำเลยร่วมที่ 20 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์ เป็นเงิน 322,320,750 บาท ให้จำเลยร่วมที่ 21 และจำเลยร่วมที่ 22 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์เป็นเงิน 197,371,500 บาท ให้จำเลยร่วมที่ 23 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์เป็นเงิน 13,215,200 บาท ให้จำเลยร่วมที่ 24 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์เป็นเงิน 68,683,441 บาท ให้จำเลยร่วมที่ 25 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์เป็นเงิน 3,500,000 บาท ให้จำเลยร่วมที่ 26 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์เป็นเงิน 8,181,400 บาท ให้จำเลยร่วมที่ 27 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์เป็นเงิน 91,434,200 บาท ให้จำเลยร่วมที่ 28 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์เป็นเงิน 10,000,000 บาท ให้จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 8 จำเลยที่ 9 จำเลยร่วมที่ 1 จำเลยร่วมที่ 5 ถึงจำเลยร่วมที่ 16 จำเลยร่วมที่ 18 ถึงจำเลยร่วมที่ 26 และจำเลยร่วมที่ 28 (ที่ถูก จำเลยร่วมที่ 19 ถึงจำเลยร่วมที่ 28) รับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่จำเลยและจำเลยร่วมแต่ละคนจะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 นับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จำเลยที่ 8 และที่ 9 จำเลยร่วมที่ 1 ถึงจำเลยร่วมที่ 16 จำเลยร่วมที่ 19 ถึงจำเลยร่วมที่ 28 ร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียม และตามทุนทรัพย์ที่จำเลยและจำเลยร่วมแต่ละคนจะต้องรับผิดต่อโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับผิด คนละ 50,000 บาท จำเลยที่ 8 จำเลยที่ 9 จำเลยร่วมที่ 1 ถึงจำเลยร่วมที่ 16 จำเลยร่วมที่ 19 ถึงจำเลยร่วมที่ 28 ให้รับผิดใช้ค่าทนายความแก่โจทก์คนละ 5,000 บาท ให้ยกฟ้องจำเลยร่วมที่ 2 ถึงจำเลยร่วมที่ 4 จำเลยร่วมที่ 17 และจำเลยร่วมที่ 29 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมที่ 2 ถึงจำเลยร่วมที่ 4 จำเลยร่วมที่ 17 และจำเลยร่วมที่ 29 ให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยร่วมที่ 5 ที่ 14 ที่ 21 ถึงที่ 23 และที่ 28 อุทธรณ์ โดยจำเลยร่วมที่ 5 ได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์
ในระหว่างอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561 จำเลยร่วมที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เป็นเวลา 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2561 ถึงวันที่ 17 กันยายน 2561 ต่อมาวันที่ 20 สิงหาคม 2561 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ถึงวันที่ 12 กันยายน 2561 และเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 จำเลยร่วมที่ 26 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ต่อมาเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2561 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง และเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 จำเลยร่วมที่ 2 และที่ 4 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์ชั่วคราวของจำเลยร่วมที่ 2 และที่ 4 และในวันดังกล่าวศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง และวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 จำเลยร่วมที่ 14 ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์
จำเลยร่วมที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 ถึงที่ 9 และที่ 26 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ และยกอุทธรณ์ของจำเลยร่วมที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 ถึงที่ 9 และที่ 26 และยกคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ของจำเลยร่วมที่ 14 ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยร่วมที่ 5 ที่ 14 ที่ 21 ถึงที่ 23 และที่ 28 โดยค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์เฉพาะในส่วนของจำเลยร่วมที่ 5 ที่ได้รับยกเว้น ให้โจทก์นำมาชำระต่อศาลในนามของจำเลยร่วมที่ 5 โดยกำหนดค่าทนายความให้แก่จำเลยร่วมที่ 5 ที่ 14 ที่ 21 ถึงที่ 23 และที่ 28 รวมทั้งสองศาล คนละ 10,000 บาท ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่จำเลยร่วมที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 ถึงที่ 9 และที่ 26 ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ นอกจากนี้ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 โจทก์ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของโจทก์ต่อศาลล้มละลายกลางในฐานะลูกหนี้ผู้ร้องขอ และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอในวันเดียวกันเป็นคดีหมายเลขดำที่ ฟ.20/2557 คดีทั้งสองสำนวนนี้ โจทก์ยื่นคำฟ้องคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 398/2561 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 โดยโจทก์ยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งให้ยกคำร้อง โจทก์วางเงินค่าธรรมเนียมศาลเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2557 ศาลชั้นต้นสั่งรับคำฟ้องในวันดังกล่าว ส่วนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 399/2561 โจทก์ยื่นคำฟ้องเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2557 ต่อมาวันที่ 20 มีนาคม 2558 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการของโจทก์และตั้งโจทก์ในฐานะลูกหนี้เป็นผู้ทำแผน วันที่ 21 มกราคม 2559 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของโจทก์ โดยให้โจทก์เป็นผู้บริหารแผน ครั้นวันที่ 25 มิถุนายน 2564 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของโจทก์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/70
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของโจทก์ อำนาจในการบริหารกิจการของโจทก์กลับคืนมา โจทก์ย่อมมีอำนาจตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/14 และมาตรา 90/15 เห็นว่า เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้รับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของโจทก์แล้ว การดำเนินการต่าง ๆ อันเกี่ยวด้วยทรัพย์สินของโจทก์ในฐานะลูกหนี้ในคดีขอให้ฟื้นฟูกิจการจึงอยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการซึ่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 หมวด 3/1 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ กำหนดให้ศาลเข้ามามีบทบาทในการกำกับ ตรวจสอบ ดูแลกระบวนพิจารณาคดีฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งให้ศาลมีอำนาจแต่งตั้งผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนและควบคุมดูแลการทำงานของผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนให้เป็นไปตามกฎหมายในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนั้น พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12 บัญญัติว่า"ภายใต้บังคับมาตรา 90/13 และมาตรา 90/14 นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผนหรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามความในหมวดนี้... (9) ห้ามมิให้ลูกหนี้ จำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชำระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สิน นอกจากเป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อไปได้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น..." ซึ่งมาตรา 90/12 (9) นำไปใช้กับอำนาจหน้าที่ของผู้บริหารแผนชั่วคราวตามความในมาตรา 90/21 และอำนาจหน้าที่ของผู้ทำแผนตามมาตรา 90/25 ด้วย โดยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าภายหลังจากศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้วลูกหนี้จะดำเนินกิจการได้เฉพาะการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อไปได้ แต่หากลูกหนี้จะดำเนินการจำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชำระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สินที่มิใช่การดำเนินธุรกิจตามปกติทางการค้าของลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลล้มละลายกลางและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตแล้วเท่านั้น ซึ่งคดีทั้งสองสำนวนนี้ โจทก์ฟ้องคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 398/2561 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 และศาลชั้นต้นสั่งรับคำฟ้องของโจทก์เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2557 ส่วนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 399/2561 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2557 เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของโจทก์วันที่ 26 สิงหาคม 2557 และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของโจทก์ไว้ในวันเดียวกัน การฟ้องคดีของโจทก์ทั้งสองสำนวนจึงเป็นการยื่นคำฟ้องหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของโจทก์แล้ว ดังนั้น การฟ้องคดีของโจทก์ทั้งสองสำนวนนี้จึงตกอยู่ในขอบอำนาจและกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการ และอยู่ในบังคับตามมาตรา 90/12 (9) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 การที่โจทก์ฟ้องเรียกเอาทรัพย์คืนโดยอ้างว่าจำเลยทั้งเก้าได้รับทรัพย์สินของโจทก์ไปโดยมีการกระทำอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ กระทำหรือละเว้นการกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของโจทก์อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งเก้าชำระเงินคืนแก่โจทก์ 119,020,000 บาท และ 9,522,533,049.50 บาท ซึ่งคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำนวนเป็นการฟ้องเรียกเอาทรัพย์คืนโดยอ้างว่าจำเลยทั้งเก้าได้รับทรัพย์สินของโจทก์ไป โดยมีการกระทำอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ กระทำหรือละเว้นการกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของโจทก์เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์และขอให้บังคับจำเลยทั้งเก้าคืนทรัพย์ซึ่งเป็นเงินอันเป็นทรัพย์ของโจทก์ การฟ้องคดีดังกล่าวหากโจทก์เป็นฝ่ายแพ้คดีก็อาจมีผลกระทบต่อกองทรัพย์สินของโจทก์ หรือโจทก์อาจต้องชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนฝ่ายจำเลยทั้งเก้าผู้ถูกฟ้องคดี จึงมิได้เป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของโจทก์สามารถดำเนินต่อไปได้ แต่เป็นการกระทำที่อาจก่อให้เกิดภาระแก่ทรัพย์สินของโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ในคดีขอให้ฟื้นฟูกิจการได้ ดังนั้น โจทก์จะกระทำการดังกล่าวได้จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลล้มละลายกลาง อันเป็นศาลที่รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการก่อน แม้คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 398/2561 โจทก์จะยื่นฟ้องในวันเดียวกันกับวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของโจทก์ในวันเดียวกัน สภาวะพักการชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12 (9) ย่อมเกิดขึ้นในวันดังกล่าวส่วนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 399/2561 โจทก์ยื่นฟ้องภายหลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ เมื่อทั้งสองสำนวนโจทก์ยื่นฟ้องโดยไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตต่อศาลล้มละลายกลางและศาลล้มละลายกลางไม่ได้มีคำสั่งอนุญาต จึงเป็นการฟ้องคดีต่อศาลโดยไม่มีอำนาจ ซึ่งการพิจารณาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลหรือไม่ย่อมต้องพิจารณาถึงอำนาจฟ้องในขณะยื่นคำฟ้องเป็นสำคัญ ดังนั้น แม้ภายหลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของโจทก์ และอำนาจในการบริหารกิจการของโจทก์กลับคืนมาตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/75 และมาตรา 90/76 ดังที่โจทก์อ้างมาในฎีกาก็ตาม แต่หามีผลทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์ซึ่งไม่มีในขณะยื่นคำฟ้องกลับมีขึ้นในภายหลังได้ไม่ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องดังกล่าวข้างต้นเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ