โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 384,502.73 บาท ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 332,700 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ของต้นเงิน 332,700 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 41,839.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 40,109.25 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 384,502.73 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 332,700 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 ธันวาคม 2559) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 8,326 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 จำเลยที่ 2 ทำบันทึกข้อตกลงกับโจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับประกันภัยในโครงการประกันภัยผู้ค้ำประกัน โดยถือเอาข้อกำหนด (TOR) โครงการประกันชีวิตและประกันภัยผู้ค้ำประกันเงินกู้สามัญเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลง โจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1 และนายธานินทร์ เป็นสมาชิกของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2554 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินและได้รับเงินไปจากโจทก์ที่ 1 ครบถ้วนแล้ว 353,800 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี กำหนดชำระต้นเงินคืนเป็นงวดรายเดือน เดือนละ 3,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอีกต่างหาก เริ่มชำระงวดแรกเดือนตุลาคม 2554 งวดถัดไปทุกสิ้นเดือนจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยมีโจทก์ที่ 2 และนายธานินทร์เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม วันเดียวกันโจทก์ที่ 2 และนายธานินทร์เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 2 ระยะเวลาประกันภัยเริ่มต้นวันที่ 29 กันยายน 2554 สิ้นสุดวันที่ 29 กันยายน 2555 จำนวนเงินเอาประกันภัย 353,800 บาท โดยจำเลยที่ 2 ตกลงว่าจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยให้แก่โจทก์ที่ 1 สำหรับจำนวนเงินกู้ที่ค้างชำระเกินกว่า 2 งวด ติดต่อกัน (รวมดอกเบี้ย) และผู้กู้ได้พ้นสภาพจากการเป็นสมาชิกของโจทก์ที่ 1 แล้ว ในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย จำเลยที่ 1 ค้างชำระหนี้เงินกู้ตั้งแต่งวดเดือนพฤษภาคม 2555 เป็นต้นมาเกินกว่า 2 งวดติดต่อกัน เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2555 บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด มีคำสั่งไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงาน ต่อมาโจทก์ที่ 1 มีมติให้จำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นสมาชิกของโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2555 โจทก์ที่ 1 มีหนังสือขอให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าสินไหมทดแทน แต่จำเลยที่ 2 ไม่ชำระ หลังจากนั้นโจทก์ที่ 1 ทวงถามให้จำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 2 และนายธานินทร์ชำระหนี้ แต่จำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ชำระหนี้ให้บางส่วน โดยโจทก์ที่ 2 ชำระต้นเงิน 100 บาท ดอกเบี้ย 40,009.25 บาท รวมเป็นเงิน 40,109.25 บาท จำเลยที่ 1 มีหนี้ค้างชำระจนถึงวันฟ้องเป็นต้นเงิน 332,700 บาท และดอกเบี้ย 51,802.73 บาท รวมเป็นเงิน 384,502.73 บาท คดีระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 คู่ความไม่อุทธรณ์ จึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ทั้งสองได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า คดีโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 861 บัญญัติว่า อันว่าสัญญาประกันภัยนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัย จะเห็นได้ว่าในการทำสัญญาประกันภัย คู่สัญญาอาจกำหนดเงื่อนไขในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นเหตุวินาศภัยหรือเหตุอย่างอื่นที่มิใช่วินาศภัยก็ได้ แล้วแต่ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัยจะตกลงกัน และคำว่า วินาศภัย นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 869 บัญญัติให้หมายรวมเอาความเสียหายอย่างใด ๆ บรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้ ดังนั้น ความเสียหายอันเป็นวินาศภัยย่อมต้องเป็นเหตุหรือภัยใด ๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น มิใช่ความรับผิดตามข้อสัญญาระหว่างคู่กรณีที่มีลักษณะเป็นนิติกรรม การที่ข้อตกลงกำหนดความคุ้มครอง คือ จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยตกลงจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนในนามของโจทก์ที่ 2 และนายธานินทร์ ผู้ค้ำประกันให้แก่โจทก์ที่ 1 ผู้ให้กู้สำหรับจำนวนเงินกู้ที่ค้างชำระเกินกว่า 2 งวดติดต่อกันตามสัญญาค้ำประกันที่ตกลงกันไว้ (รวมดอกเบี้ย) และจำเลยที่ 1 ผู้กู้ได้พ้นสภาพจากการเป็นสมาชิกของโจทก์ที่ 1 ผู้ให้กู้แล้วเท่านั้น ถือว่าหนี้ที่โจทก์ที่ 2 และนายธานินทร์ต้องรับผิดชำระแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงื่อนไขที่จำเลยที่ 2 จะใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 ในนามของโจทก์ที่ 2 และนายธานินทร์ เงื่อนไขความรับผิดระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงมีลักษณะเป็นนิติกรรมสัญญาอย่างหนึ่งซึ่งจำเลยที่ 2 ตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในเหตุอย่างอื่นในอนาคตหากมีการกระทำอันเป็นการผิดสัญญา มิใช่กรณีเมื่อเกิดวินาศภัยขึ้น จึงมิใช่สัญญาประกันวินาศภัยซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติเกี่ยวกับการประกันวินาศภัยไว้ในลักษณะ 20 หมวด 2 และมีบทบัญญัติเกี่ยวกับอายุความในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไว้เป็นการเฉพาะตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง คือ ห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาสองปีนับแต่วันวินาศภัย แต่กรณีดังกล่าวเป็นการทำสัญญาประกันภัยในเหตุแห่งการผิดสัญญาอันเป็นเหตุอย่างอื่นในอนาคต ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 นับแต่เวลาที่โจทก์ทั้งสองอาจบังคับสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันภัยได้ตามมาตรา 193/12 เมื่อตามสำเนาบันทึกข้อตกลงและสำเนาหนังสือรับรองการประกันภัย ระบุว่า บริษัทตกลงจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยให้แก่ผู้ให้กู้สำหรับจำนวนเงินกู้ที่ค้างชำระเกิน 2 งวดติดต่อกัน (รวมดอกเบี้ย) และผู้กู้ได้พ้นสภาพจากการเป็นสมาชิกของผู้ให้กู้แล้วเท่านั้น แสดงว่าโจทก์ทั้งสองจะบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยได้ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ค้างชำระหนี้เกินกว่า 2 งวดติดต่อกัน และจำเลยที่ 1 ได้พ้นสภาพจากการเป็นสมาชิกของโจทก์ที่ 1 แล้ว คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้งวดเดือนพฤษภาคม 2555 เป็นต้นมา เกินกว่า 2 งวดติดต่อกัน และจำเลยที่ 1 พ้นสภาพจากการเป็นสมาชิกของโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2555 เนื่องจากถูกบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด มีคำสั่งไล่ออกจากงาน ดังนั้น อายุความเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2555 อันเป็นวันครบกำหนดทุกเงื่อนไขที่โจทก์ทั้งสองอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของตนได้ การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559 ยังอยู่ในระยะเวลา 10 ปี คดีของโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองในส่วนจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น และเห็นสมควรวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ทั้งสองโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยก่อน
สำหรับปัญหาว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเพราะโจทก์ที่ 1 อนุมัติเงินกู้ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของโจทก์ที่ 1 หรือไม่ นั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้แล้วว่าการอนุมัติเงินกู้ของโจทก์ที่ 1 ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของโจทก์ที่ 1 แล้ว แต่จำเลยที่ 2 แก้อุทธรณ์โดยไม่ได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนนี้ ปัญหาข้อนี้จึงเป็นอันยุติตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น คงมีปัญหาต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า โจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์ที่ 1 ได้เอาประกันภัยความรับผิดในหนี้ดังกล่าวไว้กับจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ตกลงจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยให้แก่โจทก์ที่ 1 สำหรับจำนวนเงินกู้ที่ค้างชำระเกินกว่า 2 งวดติดต่อกัน และผู้กู้ได้พ้นสภาพจากการเป็นสมาชิกของโจทก์ที่ 1 แล้ว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากจำเลยที่ 1 มีหนี้ค้างชำระเกินกว่า 2 งวดติดต่อกัน และได้พ้นสภาพจากการเป็นสมาชิกของโจทก์ที่ 1 แล้ว โจทก์ที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 28 กันยายน 2555 แจ้งให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าสินไหมทดแทนในหนี้คงเหลือเป็นต้นเงิน 332,800 บาท และดอกเบี้ย 5,334 บาท แต่ต่อมาโจทก์ที่ 2 ได้ชำระดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวและต้นเงินอีกบางส่วนให้โจทก์ที่ 1 แล้ว คงเหลือหนี้ค้างชำระเพียงต้นเงิน 332,700 บาท ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 ในต้นเงิน 332,700 บาท พร้อมดอกเบี้ย ตามสำเนาบันทึกข้อตกลง ข้อ 4.6 ที่ระบุว่า จำเลยที่ 2 ตกลงทำการจ่ายเงินสินไหมทดแทนภายใน 13 วันทำการ นับแต่ได้รับเอกสารครบถ้วน หากจำเลยที่ 2 ไม่อาจจ่ายค่าทดแทนให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาข้างต้น จำเลยที่ 2 จะรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยให้อีกในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ต้องจ่าย ซึ่งจากคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองโดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การโต้แย้งรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้รับเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนครบถ้วนแล้วในวันที่ 28 กันยายน 2555 ครบกำหนด 13 วันทำการในวันที่ 17 ตุลาคม 2555 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่โจทก์ที่ 1 ขอคิดดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง จึงให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าวตามที่ขอ นอกจากนี้ดอกเบี้ยที่ระบุให้จำเลยที่ 2 รับผิดแก่โจทก์ที่ 1 ในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน หรือเท่ากับอัตราร้อยละ 24 ต่อปี นั้น มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับและสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ที่ 1 แล้ว เห็นสมควรกำหนดดอกเบี้ยให้อัตราร้อยละ 12 ต่อปี ส่วนปัญหาว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 หรือไม่ เพียงใด นั้น
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า แม้สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์ที่ 2 และนายธานินทร์ กับจำเลยที่ 2 เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก และโจทก์ที่ 1 ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาได้แสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้วก็ตาม แต่ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ที่ 1 เรียกร้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามหนังสือทวงถามคงเหลือเพียง 332,700 บาท ยังไม่เต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย อีกทั้งหลังจากได้รับหนังสือทวงถามแล้ว จำเลยที่ 2 ปฏิเสธไม่ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาประกันภัย ทำให้โจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ในต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระรวมทั้งดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังจากนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ที่ 2 ชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระอยู่เดิมและดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่รวมทั้งต้นเงินบางส่วนให้โจทก์ที่ 1 แล้ว รวมเป็นเงิน 40,109.25 บาท โจทก์ที่ 2 ในฐานะคู่สัญญาประกันภัยย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 2 ตามสัญญาประกันภัยในส่วนของจำนวนเงินเอาประกันภัยที่เหลืออยู่ได้ คดีนี้จำนวนเงินเอาประกันภัย 353,800 บาท จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 332,700 บาท คงเหลือจำนวนเงินเอาประกันภัยอีก 21,100 บาท น้อยกว่าจำนวนเงินที่โจทก์ที่ 2 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 เพียง 21,100 บาท เท่าจำนวนเงินเอาประกันภัยส่วนที่เหลือ พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันผิดนัด แต่ทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 ได้ทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ ยังไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ผิดนัด จึงให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวบัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความใหม่แทน เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่อาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี และมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวให้ใช้บทบัญญัติตามมาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 และที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 จึงต้องบังคับตามมาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 384,502.73 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 332,700 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 ธันวาคม 2559) ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 332,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 21,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 อัตราดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 และที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ใช้อัตราที่ปรับเปลี่ยนบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่ขอ ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท และให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ที่ 2 ได้รับยกเว้น ให้จำเลยที่ 2 ชำระต่อศาลในนามโจทก์ที่ 2 เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ชำระตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ที่ 2 ชนะคดีในชั้นฎีกา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ