ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เงินบำเหน็จจากการเกษียณอายุ ต้องรวมเงินรางวัลพิเศษคำนวณตามข้อบังคับและกฎหมายแรงงาน
จำเลยเช่าโรงงานสุราบางยี่ขันจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมมาดำเนินการ ตามสัญญาเช่ากำหนดให้จำเลยรับโอนพนักงานและคนงานเข้าทำงานต่อไปและให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ระเบียบว่าด้วยเวลาทำงาน โดยที่เงินบำเหน็จตามคำสั่งดังกล่าวได้วางระเบียบให้จ่ายเท่ากับค่าจ้างปกติในเดือนสุดท้ายของปีที่ออกปีละ 1 เดือนโจทก์ออกจากงานเพราะเกษียณอายุจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้โดยคำนวณเฉพาะเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีทำงานแต่ไม่นำเงินรางวัลพิเศษที่โจทก์ได้รับเป็นรายเดือนมารวมคำนวณด้วยดังนี้ คำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องระเบียบว่าด้วยเวลาทำงาน เป็นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งจำเลยในฐานะผู้เช่าโรงงานสุราจะต้องถือปฏิบัติตามข้อสัญญาที่ทำไว้กับผู้ให้เช่าและจำเลยในฐานะที่เป็นนายจ้างจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวอันเป็นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่วางไว้ด้วยเมื่อได้ความว่าเงินรางวัลพิเศษที่จำเลยจ่ายให้แก่พนักงานและคนงานที่มีเงินเดือนหรือค่าจ้างเต็มอัตรา เกินอัตรา หรือไม่มีอัตราโดยจ่ายเป็นรายเดือนและมีขั้นวิ่งเหมือนเงินเดือนถือได้ว่าเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดเวลาทำงาน ฯลฯและเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ และเงินรางวัลพิเศษนี้เป็นค่าจ้างปกติตามบทนิยามคำว่า 'ค่าจ้างปกติ' ในคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง ระเบียบว่าด้วยเวลาทำงานฯ ฉะนั้น จึงต้องนำเงินรางวัลพิเศษไปรวมกับเงินเดือนหรือค่าจ้างคำนวณเป็นเงินบำเหน็จตามคำสั่งดังกล่าวด้วยแม้จำเลยได้มีหนังสือแจ้งทุกหน่วยงานว่า ไม่ถือว่าเงินรางวัลพิเศษเป็นค่าจ้างที่จะนำมารวมคำนวณเงินบำเหน็จก็ไม่มีผลบังคับเพราะขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทยและคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมดังกล่าวแล้ว
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 แก้ไขเพิ่มเติมโดย ฉบับที่ 5 เป็นเรื่องกำหนดข้อยกเว้นการจ่ายเงินค่าชดเชยในกรณีเลิกจ้างไม่เกี่ยวกับจ่ายเงินบำเหน็จเช่นคดีนี้ทั้งเป็นกฎหมายที่ออกมาภายหลังที่โจทก์เกษียณอายุออกจากงานแล้วไม่อาจนำมาปรับกับคดีนี้ได้
เงินบำเหน็จมิใช่เป็น 'ส่วนหนึ่งของเงินจ้าง' ตามความหมายในมาตรา 165(9) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันจะมีอายุความ 2 ปีแต่เป็นการเรียกร้องเงินบำเหน็จในกรณีที่ลูกจ้างเกษียณอายุออกจากงานตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติว่ามีอายุความฟ้องร้องเท่าใดจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164