ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิจัดการศพ: พิจารณาความเหมาะสมตามสถานะพระภิกษุและศรัทธาของประชาชน
โจทก์บรรยายสภาพแห่งข้อหาว่า โจทก์เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับพระครู อ. ซึ่งถึงแก่มรณภาพขณะบวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดจำเลยที่ 1 ที่มีจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าอาวาส และมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า เมื่อพระครู อ. ถึงแก่มรณภาพ โจทก์ติดต่อขอรับสังขารของพระครู อ. เพื่อนำไปฌาปนกิจตามประเพณี แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอม จำเลยทั้งสองให้การว่า ก่อนถึงแก่มรณภาพ พระครู อ. สั่งเสียลูกศิษย์ให้เก็บสังขารไว้ให้บรรพชนรุ่นหลังกราบสักการะ เนื้อหาแห่งคดีเป็นเรื่องสิทธิในการจัดการศพของผู้ตาย ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งสองมีหน้าที่จัดการศพผู้ตาย แม้ศาลชั้นต้นชี้สองสถานโดยกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้เพียงว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ แต่การที่โจทก์จะมีอำนาจฟ้องหรือไม่ อยู่ในบังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 55 ว่าโจทก์ถูกจำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิจัดการศพผู้ตายหรือไม่ และในการวินิจฉัยชี้ขาดของศาลต้องพิจารณาฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานทั้งมวลที่ปรากฏในสำนวนว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งสองเป็นบุคคลต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ให้มีหน้าที่จัดการศพผู้ตายหรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยทั้งสองว่า ก่อนถึงแก่มรณภาพพระครู อ. มีทรัพย์สินรถยนต์ส่วนบุคคลเป็นมรดกตกทอดแก่วัดจำเลยที่ 1 เนื่องจากมิได้ร้องขอแก้ไขภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด มีผลเพียงว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ได้ปรากฏขึ้นจากการกล่าวอ้างในคำให้การของจำเลยทั้งสองเท่านั้น หากศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องฟังข้อเท็จจริงส่วนนี้เพื่อให้วินิจฉัยชี้ขาดคดีได้ถูกต้องแท้จริงก็มีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานอันเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับฟังจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ผู้ใดได้รับมรดกของผู้ตายมากที่สุดซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีว่าโจทก์หรือจำเลยทั้งสองมีหน้าที่จัดการศพผู้ตาย จึงเป็นการรับฟังพยานหลักฐานโดยชอบเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในการชี้ขาดคดี
พระครู อ. มีทายาทเหลืออยู่เพียงคนเดียวคือโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้หนึ่งที่มีอำนาจหน้าที่จัดการศพของพระครู อ. ได้ แต่เมื่อตามสถานะของผู้ตายซึ่งได้บวชเป็นพระภิกษุตั้งแต่อายุ 25 ปี และมรณภาพอายุ 75 ปี รวมเวลาที่อยู่ในสมณเพศนานถึง 50 พรรษา หลังจากพระครู อ. ถึงแก่มรณภาพแล้ว ญาติพี่น้องรวมทั้งจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันจัดงานสวดพระอภิธรรมศพเป็นเวลา 15 วัน โดยวัดจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายแล้วบรรจุเก็บสังขารของพระครู อ. ไว้บำเพ็ญกุศลทุกวันพระเป็นเวลา 100 วันพระ และได้ความตามรายงานการประชุมเกี่ยวกับการจัดการศพพระครู อ. ว่า มีประชาชนศรัทธามาสักการะสังขารของพระครู อ. เป็นจำนวนมาก แสดงว่าพระครู อ. เป็นพระที่ประชาชนเลื่อมใสศรัทธา ยิ่งไปกว่านั้น การที่พระครู อ. บวชเป็นพระภิกษุตลอดมา แสดงว่าพระครู อ. มีศรัทธาอุทิศตนเพื่ออยู่ในพุทธศาสนา ซึ่งมีวัดเป็นสถานรวมกิจกรรมของสงฆ์และการประกอบพิธีทางศาสนาของประชาชน การที่โจทก์เป็นผู้จัดการศพของพระครู อ. น่าจะไม่สอดคล้องกับความศรัทธาของประชาชนผู้เลื่อมใสเคารพนับถือแก่พระครู อ. จึงเป็นการสมควรที่วัดจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับสรีระสังขารของพระครู อ. ต่อไป โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าโจทก์หรือวัดจำเลยที่ 1 เป็นผู้ได้รับมรดกของผู้ตายมากที่สุด