โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 9739 บางส่วน ด้านทิศตะวันออก ดังนี้ ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับทางสาธารณประโยชน์กว้าง 40 เมตร ด้านทิศใต้กว้าง 35 เมตร ด้านทิศตะวันออกยาว 47 เมตร ด้านทิศตะวันตกยาว 52 เมตร เนื้อที่ 2 งาน 70 ตารางวา ตามรูปแผนที่ท้ายสัญญาประนีประนอมยอมความบริเวณที่ระบายสีชมพู โดยค่าใช้จ่ายของจำเลย และให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินที่รังวัดแบ่งแยกเสร็จให้แก่โจทก์ โดยโจทก์จะรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 6065 ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับทางสาธารณประโยชน์กว้าง 50 เมตร ด้านทิศตะวันออกยาว 68 เมตร ด้านทิศตะวันตกยาว 78 เมตร เนื้อที่ 1 ไร่ 86 ตารางวา ตามรูปแผนที่ท้ายสัญญาประนีประนอมยอมความบริเวณที่ระบายสีเหลือง และจดทะเบียนโอนให้แก่จำเลย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 9739 และให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินที่รังวัดแบ่งแยกเสร็จให้แก่โจทก์ และให้โจทก์รังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 6065 และจดทะเบียนโอนให้แก่จำเลย โดยให้โจทก์กับจำเลยออกค่าใช้จ่ายฝ่ายละครึ่ง หากโจทก์หรือจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงเจตนาแทน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6065 เลขที่ดิน 509 เนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 58 ตารางวา จำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 9739 เลขที่ดิน 659 เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 26 ตารางวา เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2550 และออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2550 ต่อมาวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 โจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดสอบเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 6065 แต่จำเลยคัดค้านว่าที่ดินดังกล่าวของโจทก์ทับซ้อนกับที่ดินโฉนดเลขที่ 9739 ของจำเลย จึงมีการทำบันทึกข้อตกลงกันที่สำนักงานที่ดินจังหวัดพะเยา สาขาเชียงคำ มีใจความว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงให้ที่ทับซ้อนส่วนที่ระบายด้วยสีเหลืองเป็นของจำเลย ส่วนที่ระบายด้วยสีชมพูเป็นของโจทก์ ตามแผนที่แนบท้ายบันทึกที่นางสาวแสงจันทร์ นายช่างรังวัดชำนาญงานสำนักงานที่ดินดังกล่าวเป็นผู้ทำขึ้น โจทก์และจำเลยลงชื่อในบันทึกและแผนที่แนบท้ายบันทึกดังกล่าว โดยนายจรินทร์ ผู้ใหญ่บ้าน ลงชื่อเป็นพยานด้วย ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยร่วมกันนำชี้ทำแผนที่พิพาท โดยแนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 6065 ของโจทก์ปรากฏตามกรอบเส้นสีน้ำเงิน ส่วนแนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 9739 ของจำเลย ปรากฏตามกรอบเส้นสีแดงในแผนที่พิพาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์และจำเลยต้องผูกพันกันอย่างสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยเกี่ยวกับการได้มาซึ่งที่ดินได้ความว่า โจทก์ซื้อที่ดินมาจากนายแก้ว เจ้าของเดิม แล้วในปี 2546 โจทก์ได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินว่า ที่ดินของโจทก์เป็นที่ดินที่มีแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 13 มีชื่อนายแก้ว เป็นเจ้าของที่ดิน แต่หลักฐานสูญหาย ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ดังกล่าว โดยรังวัดปักหลักเขตที่ดินรวม 8 หลัก จากนั้นออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2550 อีกทั้งที่ดินของโจทก์ได้มีการระบุเลขที่ดิน 509 อยู่ในรูปแผนที่ของกรมที่ดินตรงจุดที่มีการทำเครื่องหมายดอกจันสีแดงไว้ ส่วนจำเลยซื้อที่ดินมาจากนายแก้ว เจ้าของเดิม ในปี 2553 ที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตนิคมสหกรณ์เชียงคำ แต่ไม่มีการระบุที่ดินของจำเลยไว้ในรูปแผนที่ของกรมที่ดิน และในแผนที่ของนิคมสหกรณ์เชียงคำ ซึ่งนายนิวัฒน์ ผู้อำนวยการนิคมสหกรณ์เชียงคำที่มาเบิกความเป็นพยานจำเลยก็ยอมรับในข้อนี้ แม้นายนิวัฒน์จะทำเครื่องหมายกรอบสี่เหลี่ยมสีแดงในรูปแผนที่ว่า ที่ดินของจำเลยน่าจะอยู่จุดนั้น แต่ก็เป็นเพียงเครื่องหมายที่ทำขึ้นเอง หาใช่รูปแผนที่อย่างเป็นทางการไม่ ประกอบกับโฉนดที่ดินเลขที่ 9739 ของจำเลย มีเนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 26 ตารางวา แต่ตามบัญชีรายชื่อสมาชิกนิคมสหกรณ์เชียงคำระบุชื่อ นายแก้ว เจ้าของที่ดินเดิมของจำเลยว่าครอบครองที่ดินเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ 17 ตารางวา ครั้นจำเลยนำชี้แนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 9739 ของจำเลย ตามกรอบเส้นสีแดงในแผนที่พิพาทกลับได้เนื้อที่ 3 ไร่ 33 ตารางวา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่แน่ชัด ดังนั้นหลักฐานการได้มาซึ่งที่ดินของโจทก์จึงมีความแน่นอนชัดเจนกว่าของจำเลย ด้วยเหตุนี้เมื่อมีการรังวัดพบว่าที่ดินของโจทก์และจำเลยทับซ้อนกัน เจ้าพนักงานที่ดินจึงได้แนะนำให้มีการตกลงแบ่งที่ดินกันโดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากที่ดินของจำเลยไม่มีระวางที่จะตรวจสอบ จึงเป็นเรื่องสมเหตุผล และเชื่อว่าเป็นเหตุให้โจทก์และจำเลยสมัครใจทำบันทึกข้อตกลงให้ที่ทับซ้อนส่วนที่ระบายด้วยสีเหลืองเป็นของจำเลย และส่วนที่ระบายด้วยสีชมพูเป็นของโจทก์ตามแผนที่แนบท้ายบันทึกดังกล่าว ซึ่งจำเลยเบิกความยอมรับในข้อนี้ บันทึกดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันโดยต่างฝ่ายต่างยอมสละที่ดินในส่วนของตนให้อีกฝ่ายหนึ่งเพื่อจะระงับข้อพิพาทในการที่โฉนดที่ดินออกทับซ้อนกัน จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 แล้ว โจทก์และจำเลยจึงต้องผูกพันกันตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวซึ่งมีใจความระบุชัดแจ้งว่า หลังจากวันทำบันทึกข้อตกลงแล้วจำเลยจะทยอยสิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ ออกจากพื้นที่ที่เป็นของโจทก์ ซึ่งเท่ากับเป็นการแสดงเจตนาให้เห็นว่าหลังจากวันนั้นจำเลยจะดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงต่อไป ส่วนการรังวัดสอบเขตเป็นเพียงขั้นตอนดำเนินการตามข้อตกลงเพื่อไปสู่การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในภายหลัง ไม่ใช่เป็นเงื่อนไขที่จะทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความยังไม่มีผลสมบูรณ์แต่อย่างใด ที่จำเลยต่อสู้ว่า บันทึกข้อตกลงดังกล่าวไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ เพราะไม่ปรากฏว่าจำเลยยอมสละสิทธิเกี่ยวกับข้อพิพาท ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยต้องดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวในวันใดนั้น จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า เมื่อยังไม่ได้กำหนดแนวเขตแต่ละด้านว่าควรจะมีความกว้างยาวเท่าใด ย่อมเป็นที่สงสัยว่าแต่ละฝ่ายยอมแบ่งที่ดินส่วนของตนเป็นเนื้อที่เท่าใด กรณีเป็นที่สงสัยนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคหนึ่ง นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะตามเจตนารมณ์ของคู่ความทั้งสองฝ่ายเห็นได้ชัดว่ามุ่งประสงค์จะแบ่งแยกที่ดินเป็นสัดส่วนแน่นอนแล้ว ส่วนแนวเขตกว้างยาวแต่ละด้านเป็นรายละเอียดข้อเท็จจริงที่อาจรับฟังได้ในชั้นพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยให้การต่อสู้แต่เพียงว่า บันทึกข้อตกลงดังกล่าวไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ โดยไม่ได้ให้การแก้ต่างบันทึกข้อตกลงและแผนที่แนบท้ายบันทึกดังกล่าว ที่ระบุให้ที่ทับซ้อนส่วนที่ระบายด้วยสีเหลืองเป็นของจำเลย และส่วนที่ระบายด้วยสีชมพูเป็นของโจทก์ รวมทั้งไม่ได้ให้การแก้ต่างฟ้องโจทก์ที่กล่าวอ้างและมีคำขอบังคับให้จำเลยรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 9739 ของจำเลยบางส่วน ด้านทิศตะวันออกเนื้อที่ 2 งาน 70 ตารางวา ให้แก่โจทก์ โดยระบุแนวเขตแต่ละด้านมาพร้อมด้วย โดยโจทก์จะรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 6065 ของโจทก์บางส่วน โดยระบุแนวเขตแต่ละด้านมาพร้อมด้วยเช่นกัน คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในข้อนี้ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาวินิจฉัยว่า เมื่อไม่มีกำหนดแนวเขตแต่ละด้านย่อมเป็นที่สงสัยว่าแต่ละฝ่ายยอมแบ่งที่ดินส่วนของตนเป็นเนื้อที่เท่าใดและนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันนั้น ข้อวินิจฉัยดังกล่าวก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในข้อนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ