โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่รับว่าจำเลยข่มขืนใจผู้เสียหายให้ไปกับจำเลยโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายโดยใช้กำลังประทุษร้ายจริงแต่มิได้กระทำโดยมีอาวุธปืน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยฉุดกระชากพานางสาวนงคราญ ผู้เสียหาย ขึ้นรถยนต์กระบะของจำเลยแล้วขับหนีไป หลังจากนั้นไม่สามารถติดต่อผู้เสียหายได้ ต่อมานายคลื้น บิดาผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลย
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรกหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยในข้อหาข่มขืนใจผู้อื่น โดยมีอาวุธ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก โจทก์มิได้อุทธรณ์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 309 วรรคสอง ความผิดดังกล่าวจึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้แต่เพียงว่า จำเลยกระทำความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 321 ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ตามมาตรา 96 แม้จะได้ความว่า เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2551 นายคลื้น บิดาผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ภายในระยะเวลาสามเดือน แต่ก็ไม่ปรากฏว่า ผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ หรือเป็นผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแลของนายคลื้นหรือผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ อันจะทำให้นายคลื้นเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 การแจ้งความร้องทุกข์ของนายคลื้นนั้นจึงไม่ชอบ ถือได้ว่าไม่มีคำร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดดังกล่าว พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120, 121 ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น เมื่อคดีรับฟังได้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ว่าสมควรรอการลงโทษหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง