โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 861,530.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 698,172.84 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 668,268.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 มีนาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยุติฟังได้ว่า วันที่ 1 ธันวาคม 2559 จำเลยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างถนนในหมู่บ้านของจำเลยเป็นเงิน 3,173,712.90 บาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม จำเลยจะชำระเงินเมื่อโจทก์ทำงานแล้วเสร็จเป็นงวดโดยมีวิศวกรของจำเลยตรวจรับงานทุกวันที่ 5 และ 20 ของเดือนและจะชำระเงินให้โจทก์ภายใน 14 วันทำการหลังจากส่งมอบเอกสารและตรวจรับงานที่ฝ่ายบัญชีและการเงิน โดยแบ่งชำระงวดที่ 1 ร้อยละ 10 ชำระเมื่อเข้าเริ่มงาน และงวดต่อไปชำระตามผลงานที่เกิดขึ้นจริงตามสัญญาข้อ 3 โจทก์ค้ำประกันผลงานก่อสร้างเป็นเวลา 180 วัน นับจากวันที่จำเลยตรวจรับมอบงานงวดสุดท้าย โดยโจทก์ยินยอมให้จำเลยหักเงินค่าจ้างร้อยละ 5 ของเงินแต่ละงวด และอีกร้อยละ 10 ของแต่ละงวดงานที่เกิดจากการจ่ายเงินล่วงหน้าร้อยละ 10 ตามสัญญาข้อ 4 โจทก์จะเริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559 กำหนดแล้วเสร็จและส่งมอบงานให้จำเลยภายในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ถ้าโจทก์ทำงานไม่แล้วเสร็จ จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตามสัญญาข้อ 5 จำเลยมีอำนาจในการสั่งรื้อทำใหม่ แก้ไข หรือซ่อมแซมงานที่ไม่ได้คุณภาพโดยมีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรถึงโจทก์ และโจทก์จะต้องแก้ไขงานนั้นภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งตามสัญญาข้อ 6.4 เมื่อมีเหตุตามสัญญาข้อ 9 จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาทันทีโดยบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร และเมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยมีสิทธิริบเงินประกันหรือหลักประกันที่โจทก์มอบให้ไว้แก่จำเลยตามสัญญาข้อ 10 โจทก์ส่งมอบงานแก่จำเลยตามใบขอให้จ่ายกับใบวางบิล/แจ้งหนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยชำระเงินร้อยละ 10 จำนวน 339,587.28 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตามสัญญาข้อ 3 เป็นค่าจ้างล่วงหน้าหรือไม่ เห็นว่า จำเลยมีนายอภิวัฒน์ กรรมการจำเลยเบิกความยืนยันประกอบพยานเอกสารว่า หลังจากทำสัญญา จำเลยชำระค่าจ้างล่วงหน้า 339,587.28 บาท ตามใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงิน แต่จำเลยมิได้หักค่าจ้างล่วงหน้าที่ได้ชำระแก่โจทก์ในแต่ละงวดเนื่องจากไม่ต้องการให้โจทก์ขาดสภาพคล่องในการทำงาน ไม่ใช่จ่ายเงินให้เพราะโจทก์ทำงานให้แก่จำเลยมาแล้ว ในข้อนี้ นายบัญชา กรรมการโจทก์ก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่า จำเลยได้จ่ายเงินค่าจ้างล่วงหน้าร้อยละ 10 ของสัญญาให้แก่โจทก์แล้วในวันที่ 30 ธันวาคม 2559 ตามสำเนาใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงิน และในการส่งมอบงานให้แก่จำเลยนั้น จำเลยไม่ได้หักเงินร้อยละ 10 ตามที่ตกลงกันไว้จริง โดยเงินจำนวนร้อยละ 10 ที่เป็นค่าจ้างล่วงหน้าดังกล่าวทั้งหมดยังอยู่ที่โจทก์ ส่วนที่นายบัญชาเบิกความตอบทนายโจทก์ขออนุญาตศาลถามว่า ตามสำเนาใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงิน (ตรงกับสำเนาใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงิน) ความจริงแล้วไม่ใช่การจ่ายค่าจ้างล่วงหน้าร้อยละ 10 ตามสัญญา แต่เป็นค่างวดงานที่โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยแล้ว แต่จำเลยขอให้ออกใบกำกับภาษีหรือใบเสร็จรับเงินให้ตรงกับเอกสารว่าเป็นค่าจ้างล่วงหน้าร้อยละ 10 นั้น ว่า เงินที่โจทก์ได้รับไปดังกล่าวเป็นเงินค่าจ้างล่วงหน้าร้อยละ 10 ของมูลค่างานรวม 4 รายการ คำเบิกความของนายบัญชาจึงขัดกับที่ระบุในเอกสาร ทั้งไม่ปรากฏว่า มีเหตุผลใดที่จำเลยต้องให้โจทก์กระทำเช่นนั้น จึงเป็นการเพียงการกล่าวอ้างลอย ๆ ส่วนที่จำเลยหักเงินค่าประกันผลงานร้อยละ 5 ของเงินค่าจ้างล่วงหน้าดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่เมื่อมีการจ่ายเงินค่าจ้างล่วงหน้าแก่โจทก์แล้ว จำเลยก็หักเงินประกันผลงานร้อยละ 5 ไปตามสัญญา และในส่วนที่จำเลยไม่หักเงินร้อยละ 10 ของเงินค่างวดงานในงวดถัด ๆ ไป ก็เป็นเรื่องภายหลังที่จำเลยได้จ่ายค่าจ้างล่วงหน้าดังกล่าวไปแล้ว ซึ่งจำเลยอาจนำเงินค่าจ้างล่วงหน้านี้ไปหักคืนในภายหลังได้ จึงไม่ทำให้น้ำหนักพยานหลักฐานจำเลยเสียไป พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยชำระเงินค่าจ้างร้อยละ 10 รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นเงิน 339,587.28 บาท ตามสัญญาข้อ 3 แก่โจทก์เป็นเงินค่าจ้างล่วงหน้า ไม่ใช่เป็นเงินค่าจ้างที่โจทก์ทำงานส่งมอบแก่จำเลยตามสัญญาจ้าง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า จำเลยว่าจ้างให้โจทก์ทำงานเพิ่มในส่วนงานใส่แผ่นกันดินริมคลองและงานรั้วเหล็กโปร่งด้านคลองภาษีเจริญ (ส่วนขาด) รวมเป็นเงิน 52,969.28 บาท หรือไม่ เห็นว่า สัญญาว่าจ้างก่อสร้างเป็นสัญญาจ้างทำของไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือก็ใช้บังคับได้ เมื่อโจทก์เข้าทำงานเพิ่มงานรั้วเหล็กโปร่งด้านคลองภาษีเจริญ (ส่วนขาด) ดังกล่าวนั้น จำเลยซึ่งมีนายปิยะศักดิ์เป็นวิศวกรผู้ควบคุมงานของจำเลยไม่ได้เข้าห้ามปรามหรือบอกกล่าวให้โจทก์หยุดทำงานในส่วนนี้ กระทั่งโจทก์ทำงานแล้วเสร็จและส่งมอบงานแก่จำเลยแล้ว และยังปรากฏว่า นายปิยะศักดิ์เป็นผู้ลงลายมือชื่อยืนยันการสั่งจ้างงานใส่แผ่นกันดินริมคลองตามใบเสนอราคา ที่จำเลยเพียงแต่กล่าวอ้างลอย ๆ ว่าไม่ได้อนุมัติให้โจทก์ทำงานเพิ่มดังกล่าวย่อมมีน้ำหนักน้อย พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ทำงานเพิ่มดังกล่าวแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า จำเลยต้องชำระค่าจ้าง 315,916.58 บาท กับค่าจ้าง 155,604.64 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 471,521.22 บาท หรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาข้อ 6.4 ระบุว่า เมื่อโจทก์ส่งมอบงานแก่จำเลย จำเลยมีหน้าที่ตรวจรับ หากตรวจรับแล้วงานไม่ได้คุณภาพฝีมือตามต้องการหรือใช้วัสดุหรือกระทำไม่ถูกต้องตามแบบแปลนและข้อกำหนดประกอบแบบ จำเลยมีอำนาจในการสั่งรื้อทำใหม่ แก้ไข หรือซ่อมแซมงานที่ได้กระทำไปแล้ว โดยทำคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรถึงโจทก์ แต่ทางนำสืบของจำเลยไม่ปรากฏว่าจำเลยตรวจรับงานดังกล่าวแล้วพบว่างานยังมีข้อบกพร่องไม่เรียบร้อยแล้วมีคำสั่งแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้โจทก์ทำการแก้ไขงานก่อนแล้วแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ข้อความการสนทนาทางแอปพลิเคชันไลน์ระหว่างนายบัญชาซึ่งเป็นกรรมการโจทก์กับนายอภิวัฒน์ซึ่งเป็นกรรมการจำเลย ถือเป็นข้อความที่ทำให้ปรากฏหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างหนึ่งที่จำเลยได้ส่งไปถึงโจทก์ให้ทราบถึงเหตุแห่งการบกพร่องของงานที่ทำและการผิดสัญญาตามสัญญาข้อ 6.4 นั้น เห็นว่า การสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องของงานย่อมต้องระบุรายการของงานและข้อที่อ้างว่าเป็นความบกพร่องเพื่อที่คู่สัญญาจะได้นำไปพิจารณาแก้ไขต่อไป และที่สัญญากำหนดให้การสั่งแก้ไขข้อบกพร่องของงานให้กระทำโดยจำเลยมีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรก็ด้วยเจตนาให้เป็นหลักฐานชัดเจนเพื่อป้องกันการโต้แย้งกันที่อาจเกิดขึ้นได้ภายหลัง การทำคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรถึงโจทก์ตามสัญญาจึงย่อมหมายถึงการส่งคำสั่งเป็นหนังสือให้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างคู่สัญญา ส่วนการส่งข้อความสนทนากันทางแอปพลิเคชันไลน์หากจะให้ถือเป็นการออกคำสั่งในการแก้ไขงาน ก็ต้องปรากฏทางปฏิบัติที่ชัดแจ้งว่า คู่สัญญาประสงค์ให้ใช้คำสั่งเช่นนั้นได้ แต่จำเลยก็หาได้นำสืบในข้อนี้ไว้ไม่ นอกจากนี้ข้อความสนทนากันดังกล่าวเป็นการที่นายบัญชาทวงถามให้นายอภิวัฒน์ชำระค่าจ้าง มิได้เป็นการแจ้งให้โจทก์เข้าแก้ไขงานที่จำเลยตรวจแล้วพบว่าบกพร่องส่วนไหน อย่างไร หากมีก็เป็นการแจ้งให้โจทก์ทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาซึ่งเป็นงานคนละส่วนกับงานตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยค้างชำระค่าจ้าง 315,916.58 บาท และค่าจ้างที่โจทก์ออกใบวางบิล 155,604.64 บาท ซึ่งรวมค่าจ้างงานเพิ่ม เป็นเงินค่าจ้างทั้งสิ้น 471,521.22 บาท ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา และจำเลยต้องคืนเงินประกันผลงานแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ทำงานไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดตามสัญญาก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ส่งมอบงานแก่จำเลยตามใบวางบิล/แจ้งหนี้แล้ว นายภธัญยู ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยก็จัดทำใบขอให้จ่ายเสนอนายปิยะศักดิ์ในฐานะผู้จัดการฝ่ายของจำเลยเพื่อเสนอจำเลยให้อนุมัติจ่ายเงินแก่โจทก์แต่จำเลยอ้างเพียงว่าโจทก์ทำงานบกพร่องจึงยังไม่ชำระเงินโดยไม่ได้โต้แย้งเรื่องการทำงานไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาแต่อย่างใด พฤติการณ์ตามที่ปฏิบัติต่อกันดังกล่าวแสดงว่า โจทก์และจำเลยมิได้มีเจตนาที่จะถือเอากำหนดเวลาตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ ดังนั้น การที่โจทก์ทำงานไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อโจทก์ส่งมอบงานตามฟ้องแก่จำเลยแล้ว แต่จำเลยไม่ตรวจรับมอบงานทุกวันที่ 5 และ 20 ของเดือน ให้แล้วเสร็จตามสัญญาข้อ 3 หรือจำเลยมีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรให้โจทก์แก้ไขงานหากตรวจรับแล้วพบว่างานที่โจทก์ส่งมอบมีความบกพร่องตามสัญญาข้อ 6.4 และจำเลยไม่ชำระค่างานแก่โจทก์ตามสัญญาข้อ 6.1 ดังที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น โดยที่สัญญาว่าจ้างดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทน โจทก์ย่อมมีสิทธิบรรเทาความเสียหายด้วยการไม่ทำงานในงวดต่อไปได้ หากไม่ได้รับค่าจ้างตามผลงานที่เกิดขึ้นจริง ส่วนการที่จำเลยต้องว่าจ้างบริษัท อ. เข้าดำเนินการแทนก็เป็นเหตุอันเนื่องมาจากจำเลยเป็นฝ่ายไม่จ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ตามผลงานที่เกิดขึ้นจริงก่อน โจทก์จึงมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา ในส่วนการริบเงินประกันนั้น ตามสัญญาข้อ 9 กำหนดว่า หากเกิดกรณีใดกรณีหนึ่งตามที่ระบุไว้ จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาโดยบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรแก่โจทก์ และเมื่อบอกเลิกสัญญาแล้วจำเลยจึงจะมีสิทธิริบเงินประกันหรือหลักประกันที่โจทก์มอบให้ไว้แก่จำเลยได้ตามสัญญาข้อ 10.1 เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยบอกเลิกสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วดังที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิริบเงินประกันผลงานของโจทก์ตามสัญญาข้อ 10.1 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อต่อมาปรากฏว่าโจทก์ไม่เข้าทำงานตามสัญญาในงวดต่อ ๆ ไปให้แล้วเสร็จตามสัญญา ส่วนจำเลยก็ไม่ชำระค่าจ้างและได้ว่าจ้างบุคคลภายนอกเข้าทำงานแทน เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์และจำเลยต่างต้องคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง โดยโจทก์ต้องคืนค่าจ้างล่วงหน้าร้อยละ 10 พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 339,587.28 บาท ซึ่งยังอยู่ที่โจทก์แก่จำเลย ส่วนโจทก์ได้ทำงานที่รับจ้างตามที่ขอเบิกแล้ว เป็นการงานอันโจทก์ได้กระทำให้แก่จำเลยแล้วตามมาตรา 391 วรรคสาม จำเลยจึงต้องชำระค่าจ้าง 471,521.22 บาท และคืนเงินประกันผลงาน 196,747.77 บาท แก่โจทก์ เมื่อหักกลบกันแล้ว จำเลยต้องชำระเงินแก่โจทก์ 328,681.71 บาท ปัญหาตามฎีกาข้ออื่นของจำเลยไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
อนึ่ง เนื่องจากมีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความใหม่แทน เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี จึงต้องปรับเปลี่ยนดอกเบี้ยผิดนัดของค่าจ้างและเงินประกันผลงานซึ่งเป็นหนี้เงินตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 จากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ปัญหาเรื่องการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและกำหนดดอกเบี้ยให้ถูกต้องตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 328,681.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 มีนาคม 2561 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท