โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชดใช้เงิน 407,875 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 380,000 บาท นับแต่วันฟ้อง
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คตามฟ้องจริง แต่โจทก์มิใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ได้รับโอนเช็คมาโดยไม่สุจริต จำเลยไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามอิ้งค์ เป็นค่ามัดจำในการสั่งซื้อเครื่องพิมพ์โรแลนด์ 2 วร พาว่าทรู ซี บี 1982 (พ.ศ.2525) พร้อมอุปกรณ์พิเศษ โดยมีข้อตกลงว่า จำเลยจะชำระราคาค่าเครื่องพิมพ์งวดแรกให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามอิ้งค์ เมื่อติดตั้งเครื่องเรียบร้อยแล้วบางส่วน ส่วนที่เหลือชำระเป็นรายเดือนต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามอิ้งค์ ไม่สามารถส่งมอบเครื่องพิมพ์ตามที่จำเลยสั่งซื้อได้ จึงไม่มีสิทธิที่จะรับเงินมัดจำตามเช็คพิพาทที่รับไว้จากจำเลย จำเลยจึงได้สั่งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามอิ้งค์ กับโจทก์ได้คบคิดกันฉ้อฉลจำเลย โดยโอนเช็คที่พิพาทไปให้โจทก์ ทั้ง ๆ ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามอิ้งค์ ไม่มีหนี้สินที่จะต้องชำระแก่โจทก์แต่อย่างใด โจทก์ก็รู้ดีหรือควรจะได้รู้ ถ้าโจทก์ไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ดังนั้น การที่โจทก์รับโอนเช็คไว้จึงเป็นการรับไว้โดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาว่า โจทก์รับเช็คพิพาทไว้โดยคบคิดกับนายสุชาติ ตั้งจิตรปิยะนนท์เพื่อฉ้อฉลจำเลยหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏตามทางนำสืบของจำเลยซึ่งโจทก์มิได้นำสืบโต้เถียงเป็นอย่างอื่นฟังได้ว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามอิ้งค์ ซึ่งมีนายสุชาติตั้งจิตรปิยะนนท์ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เพื่อเป็นมัดจำสัญญาซื้อเครื่องพิมพ์ ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามอิ้งค์ ส่งมอบเครื่องพิมพ์ไม่ตรงตามสัญญา จำเลยไม่ยอมรับมอบและขอเช็คพิพาทคืน แต่นายสุชาติไม่คืนให้ จำเลยจึงขอให้ธนาคารตามเช็คระงับการจ่ายเงินตามเช็คไว้ ต่อมาเมื่อโจทก์นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คจึงไม่จ่ายให้ สำหรับข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยสุจริต เพราะได้รับเช็คพิพาทจากนายสุชาติ ตั้งจิตรปิยะนนท์ นำมาชำระหนี้เงินยืมแก่โจทก์นั้น นอกจากจะเป็นคำเบิกความของตัวโจทก์ลอย ๆ เพียงปากเดียว โดยโจทก์มิได้นำนายสุชาติมาเบิกความประกอบให้เห็นจริงดังอ้างแล้ว คำเบิกความของตัวโจทก์ยังมีพิรุธอีกหลายประการกล่าวคือโจทก์อ้างว่าโจทก์ได้ให้นายสุชาติยืมเงินไปหลายครั้งรวมเป็นเงินถึง 400,000 บาทเศษ ซึ่งถ้าหากเป็นความจริงก็แสดงว่าโจทก์จะต้องมีฐานะทางการเงินดี แต่ก็ปรากฏตามคำเบิกความของตัวโจทก์เองว่า โจทก์อาศัยอยู่กับบิดาในบ้านที่ปลูกบนที่เช่า อัตราค่าเช่าปีละ 20 บาทต่อตารางวา และบิดาโจทก์ยังได้แบ่งบ้านดังกล่าวให้ผู้อื่นเช่าอยู่อีกด้วย จึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะมีฐานะทางการเงินดีจนถึงกับมีเงินให้นายสุชาติยืมได้ถึง 400,000 บาทเศษ ที่โจทก์อ้างว่าโจทก์มีรายได้หลายทางเช่น มีฟาร์มเห็ด รับจ้างทำบัญชรและมีร้านขายของชำนั้น ก็ไม่มีหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่าเป็นจริงดังอ้างนอกจากนั้นหากนายสุชาตินำเช็คพิพาทมาใช้หนี้แก่โจทก์จริง เมื่อเช็คพิพาทขึ้นเงินไม่ได้ โจทก์ก็น่าจะคืนเช็คพิพาทแก่นายสุชาติโดยให้นายสุชาตินำเงินสดมาชำระให้แทน ไม่มีเหตุผลที่โจทก์จะต้องรับภาระนำเช็คพิพาทมาฟ้องบังคับจากจำเลย ยิ่งกว่านั้นโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าค่าใช้จ่ายในการฟ้องคดีนี้ได้จ่ายให้ทนายไปประมาณ 3,000 บาท แต่ปรากฏว่าเฉพาะค่าขึ้นศาลในคดีนี้โจทก์ต้องเสียไป 10,197.50 บาทแล้ว แสดงให้เห็นว่า การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้โจทก์มิได้เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายเอง จึงไม่ทราบว่าต้องเสียค่าขึ้นศาลไปเท่าใด จากข้อพิรุธต่าง ๆ ดังวินิจฉัยมา ไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยสุจริตด้วยการชำระหนี้จากนายสุชาติฉะนั้น การที่โจทก์รับเช็คพิพาทไว้จึงเป็นการรับโอนมาโดยคบคิดกับนายสุชาติ หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามอิ้งค์เพื่อฉ้อฉลจำเลย จำเลยจึงมีสิทธิจะยกข้อต่อสู้ที่จำเลยมีต่อห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามอิ้งค์ ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916 ประกอบด้วยมาตรา 989 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามอิ้งค์ เป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยส่งมอบเครื่องพิมพ์ไม่ตรงตามข้อตกลง จำเลยย่อมไม่ต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้ยกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน.