โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 เป็นเจ้าของกิจการเรือยนต์หางยาวข้ามฟากแม่น้ำมูลเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2523 เวลา 8 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ได้ขับเรือยนต์หางยาวของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยดังกล่าว โดยมีมารดาและพี่สาวของโจทก์ที่ 1 และบุตรของโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 โดยสารร่วมกับคนอื่น จำเลยที่ 1 ขับเรือออกจากฝั่งด้านอำเภอเมืองศรีสะเกษ เพื่อข้ามแม่น้ำมูลไปทางด้านอำเภอยางชุมน้อย โดยประมาทด้วยความเร็วสูง เมื่อเรือแล่นไปถึงกลางลำน้ำมูล จำเลยที่ 1 ได้เร่งความเร็วขึ้น ประกอบกับกระแสน้ำไหลเชี่ยว น้ำได้เข้าทางหัวเรือ เรือเอียงไปมาและเสียการทรงตัวจมลงในกระแสน้ำ มารดาและพี่สาวของโจทก์ที่ 1 และบุตรของโจทก์ที่ 2โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 จมน้ำตายขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งห้ารวมเป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวเป็นเจ้าของกิจการเรือข้ามฟากลำเกิดเหตุ จำเลยที่ 4 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างแต่ได้แอบนำเรือของจำเลยที่ 2ไปรับคนโดยสารเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยอื่นไม่รู้เห็นยินยอม ผู้โดยสารมีส่วนร่วมในการที่ทำให้เรือล่ม จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย โจทก์เรียกค่าสินไหมทดแทนเกินความเป็นจริงหลังเกิดเหตุโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความและรับเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความไปแล้ว โจทก์ทั้งห้าจึงฟ้องเรียกร้องอีกไม่ได้ ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว สัญญาประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมายจ.ล.4 ไม่มีผลผูกพันโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ส่วนโจทก์ที่ 4และที่ 5 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยแล้ว มูลละเมิดจึงระงับไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น แต่จำเลยยังไม่ได้ชำระเงินให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ส่วนค่าสินไหมทดแทนนั้น ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ชดใช้ให้โจทก์ที่ 1เป็นเงิน 43,550 บาท ชดใช้ให้โจทก์ที่ 2 ที่ 3 คนละ 23,350 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จส่วนโจทก์ที่ 4 และที่ 5 ให้ยกฟ้อง
โจทก์ที่ 4 ที่ 5 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว เห็นว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเจ้าของเรือลำที่ล่ม และใช้เรือดังกล่าวหาประโยชน์ร่วมกัน จำเลยที่1 เป็นลูกจ้างและขับเรือลำดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 โดยประมาท หนังสือสัญญาจ่ายเงินตามเอกสารหมาย จ.ล.4 ไม่มีผลใช้บังคับที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 2ถึงที่ 4 ชดใช้ค่าทำศพให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 คนละ3,000 บาท นั้นชอบแล้ว และที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 20,000 บาท นั้นชอบแล้ว โจทก์ที่ 5 มีอำนาจที่จะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะในการที่นางวันเพ็ญบุตรโจทก์ที่ 5 และบุตรของนางวันเพ็ญถึงแก่ความตายได้ โจทก์ที่ 4 ที่ 5 สมควรได้รับค่าโลงศพคนละ 350 บาท ค่าทำศพคนละ3,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะคนละ 20,000 บาท พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 4 ที่ 5คนละ 33,350 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ฟ้องให้จำเลยที่ 1ถึงที่ 4 ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 คนละไม่เกิน 50,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 คนละ 23,350 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงต้องห้ามคู่ความมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ในชั้นนี้จึงมีปัญหาเฉพาะฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2ที่ 3 ในเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 ที่ 4 และที่ 5
ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติแล้วว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเจ้าของและเป็นผู้ครอบครองเรือพิพาทร่วมกัน จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและขับเรือลำดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2ถึงที่ 4 โดยประมาท
ในเบื้องต้นจะได้วินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2, ที่ 3 และที่ 4ที่ว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2, ที่ 3 และที่ 4 หรือไม่ เสียก่อน
ตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยได้ความตรงกันว่า นายสวนจำเลยที่ 2 ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับนายเซ็น เสาเวียงนายพร โคตรรัตน์ นายหนู เสาเวียง นายเทือง โตมร และนายบน ประกอบศรีตามเอกสารหมาย ล.1 และตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบุคคลดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.ล.4 ต่อหน้าพนักงานสอบสวนว่าจะให้ค่าทำขวัญกับบุคคลเหล่านั้นในฐานะที่เป็นทายาทของผู้เสียหายเป็นเงินคนละ 2,500 บาท เฉพาะรายนายบน ประกอบศรี เป็นเงิน 5,000บาท แต่ปรากว่านายสวน จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาเอกสารหมาย ล.1 และ จ.ล.4 เมื่อเป็นเช่นนี้สัญญาเอกสารหมาย ล.1 และ จ.ล.4 ย่อมเป็นสัญญาที่ไม่ชอบจำเลยจะอ้างเอาสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้หาได้ไม่ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 จึงมีอำนาจที่จะฟ้องจำเลยที่2 ที่ 3 และที่ 4 ให้รับผิดในมูลละเมิดซึ่งจำเลยที่ 1 ลูกจ้างกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้
ปัญหาต่อไปในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่4 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ชดใช้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน40,000 บาทชดใช้แก่โจทก์ที่ 4 และที่ 5 คนละ 20,000 บาท สูงเกินไปนั้น เห็นว่า โจทก์ที่ 1 กำลังศึกษาเล่าเรียน จำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูที่โจทก์ที่ 1 ขอมาเดือนละ 500 บาท รวมทั้งหมด 40,000บาท เป็นการพอสมควรแล้ว ส่วนการอุปการะเลี้ยงดูของโจทก์ที่4 และที่ 5 แม้โจทก์ที่ 4 และที่ 5 จะไม่ได้นำสืบว่า ผู้ตายมีรายได้เดือนละเท่าใด เคยให้หรือสามารถที่จะให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นเงินเท่าใดก็ตามที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูให้โจทก์ที่ 4 และที่ 5 รายละ 20,000 บาทก็เป็นการพอสมควรแล้วเช่นกัน แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลบทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 4 โจทก์ที่ 5รายละ 33,350 บาทนั้นเป็นการรวมจำนวนเงินไม่ถูกต้อง แม้คดีนี้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกา แต่เป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 4 โจทก์ที่ 5 รายละ 23,350 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.