คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 8 วรรคสอง ความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ละบทมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเพียงบทเดียว จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 ให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 25 ปี และปรับ 500,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังไม่เกิน 2 ปี คดีถึงที่สุด
จำเลยยื่นคำร้องขอให้กำหนดโทษจำเลยใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดียาเสพติดวินิจฉัยว่า ในชั้นนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุกำหนดโทษให้จำเลยใหม่ในความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคสาม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3 (1) หรือไม่ เห็นว่า ในระหว่างที่จำเลยกำลังรับโทษตามคำพิพากษาซึ่งคดีถึงที่สุดแล้วนั้น ได้มีพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 รวมทั้งที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ และให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวแทน ซึ่งการกระทำของจำเลยต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 90 และมาตรา 145 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางที่จำเลยกับพวกร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามมาตรา 145 มีจำนวน 1,580 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 31.031 กรัม ประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความจากคำฟ้องและคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่า ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ดังนี้ โดยสภาพความผิดและพฤติการณ์ดังกล่าวหากจำเลยกับพวกไม่ถูกเจ้าพนักงานจับกุมเสียก่อน ย่อมทำให้เกิดการแพร่กระจายของเมทแอมเฟตามีนไปในกลุ่มผู้เสพและบุคคลทั่วไป ส่งผลกระทบต่อความเสียหายในสังคมส่วนรวมอย่างแน่นอน ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน การกระทำของจำเลยจึงต้องด้วยมาตรา 145 วรรคสอง (2) ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 บาท ถึง 2,000,000 บาท ยังไม่ร้ายแรงถึงขนาดเป็นการกระทำที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนทั่วไปตามมาตรา 145 วรรคสาม (2) ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 500,000 บาท ถึง 5,000,000 บาท หรือประหารชีวิต ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย และตามพฤติการณ์แห่งคดียังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนว่า จำเลยกับพวกกระทำความผิดเป็นขบวนการค้ายาเสพติดหรือจำหน่ายยาเสพติดเป็นปกติธุระ จึงยังไม่พอฟังว่าเป็นการกระทำเพื่อการค้าตามมาตรา 145 วรรคสอง (1) ดังที่จำเลยอ้างในฎีกา แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยเพียงแต่เปิดบัญชีเงินฝากธนาคารตามคำสั่งของพวกเพื่อรับโอนเงินค่ายาเสพติด แต่ก็มีลักษณะเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำด้วยการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และในที่สุดได้ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงหาใช่เป็นเพียงความผิดฐานยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร โดยรู้หรือควรรู้ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 129 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เท่านั้นไม่ เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (2) ดังที่วินิจฉัยมา แต่โทษที่กำหนดตามคำพิพากษาถึงที่สุดคือโทษจำคุกตลอดชีวิตหนักกว่าโทษจำคุกตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ศาลต้องกำหนดโทษจำคุกให้จำเลยใหม่ตามโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับ ให้กำหนดโทษจำเลยเสียใหม่สำหรับความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคสอง (2) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ประกอบมาตรา 83 จำคุก 20 ปี และปรับ 1,000,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 10 ปี และปรับ 500,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี