โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 380,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจากรายได้ค่าเช่าเดือนละ 10,000 บาท ทุกวันที่ 5 ของเดือน เริ่มชำระวันที่ 5 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไปตลอดชีวิตของฝ่ายโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ขายอะพาร์ตเมนต์ ช.แมนชั่น ต้องแบ่งเงินให้ฝ่ายโจทก์ครึ่งหนึ่ง เงื่อนไขชำระเงินจากรายได้ค่าเช่าเป็นอันยุติ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจากรายได้ค่าเช่าที่ดิน ปีละ 40,000 บาท แบ่งชำระเป็น 2 งวด งวดละ 20,000 บาท งวดแรกเดือนมิถุนายน งวดที่ 2 เดือนธันวาคมของทุกปี เริ่มชำระเดือนธันวาคม 2560 เป็นต้นไปตลอดชีวิตของโจทก์ ในกรณีจำเลยที่ 1 ขายที่ดินต้องแบ่งเงินให้โจทก์ร้อยละ 10 ของรายได้สุทธิจากการขายที่ดิน
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 380,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจากรายได้ค่าเช่า ช.แมนชั่น เดือนละ 10,000 บาท ทุกวันที่ 5 เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไปตลอดชีวิตของโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ขาย ช.แมนชั่น ต้องแบ่งเงินรายได้จากการขายให้โจทก์กึ่งหนึ่ง ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจากรายได้ค่าเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 819 ปีละ 40,000 บาท โดยกำหนดชำระเดือนมิถุนายน 20,000 บาท และเดือนธันวาคม 20,000 บาท ของทุกปี เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 เป็นต้นไปตลอดชีวิตของโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ขายที่ดินดังกล่าวต้องแบ่งเงินรายได้จากการขายให้แก่โจทก์ร้อยละ 10 ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า บันทึกเรื่องทรัพย์สินท้ายทะเบียนการหย่าระบุเรื่องทรัพย์สินชัดเจนว่า ข้อ 3.2 ช.แมนชั่น เลขที่ 246/18 ฝ่ายหญิงยินยอมให้เป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายชาย แต่มีเงื่อนไขว่า ข้อ 3.2.1 ฝ่ายชายจะต้องจ่ายเงินจากรายได้ค่าเช่าให้ฝ่ายหญิงเดือนละ 10,000 บาท ทุกวันที่ 5 ของเดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 เป็นต้นไปตลอดชีวิตของฝ่ายหญิง ข้อ 3.2.2 ถ้าฝ่ายชายขายแมนชั่นต้องแบ่งเงินให้แก่ฝ่ายหญิงครึ่งหนึ่ง เงื่อนไขข้อ 3.2.1 เป็นอันยุติไป ข้อ 3.3 ฝ่ายชายจะแบ่งรายได้จากค่าเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 819 ปีละ 40,000 บาท โดยชำระให้ 2 งวด งวดละ 20,000 บาท (งวดแรกเดือนมิถุนายน งวดที่ 2 เดือนธันวาคม ของทุกปี) ข้อ 3.4 ถ้าฝ่ายชายขายที่ดินตามข้อ 3.3 ได้จะแบ่งเงินให้ฝ่ายหญิงร้อยละ 10 ของรายได้สุทธิที่ได้จากการขายที่ดิน ข้อตกลงดังกล่าวทำให้เห็นว่านาย ก. ใช้ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขกับโจทก์เป็นเวลานาน โดยไม่มีบุตร ขณะทำบันทึกเรื่องทรัพย์สินนั้น โจทก์อายุ 60 ปี และไม่ปรากฏว่านาย ก. ได้ทำบันทึกเรื่องทรัพย์สินหลังจากจดทะเบียนหย่าเมื่อปี 2535 กับนาง ส. ภริยาคนแรก และหากนาย ก. ต้องการให้โจทก์มีรายได้จากทรัพย์สินจนกว่านาย ก. จะถึงแก่ความตาย ย่อมสามารถระบุให้ชัดเจนว่า ตลอดชีวิตของฝ่ายชาย การที่นาย ก. ระบุว่า จะต้องจ่ายเงินจากรายได้ค่าเช่าให้ฝ่ายหญิงตลอดชีวิตของฝ่ายหญิง แสดงให้เห็นว่านาย ก. ต้องการให้โจทก์มีรายได้เลี้ยงตัวเอง และหากมีการขายทรัพย์สินดังกล่าวจะต้องแบ่งเงินให้ฝ่ายหญิง บันทึกเรื่องทรัพย์สินเป็นข้อตกลงที่ผูกพันทรัพย์สิน เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทั้งสองรายการจากนาย ก. จึงต้องผูกพันตามบันทึกเรื่องทรัพย์สินดังกล่าว ภายหลังจากจำเลยที่ 1 ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 7187 ซึ่งมีสิ่งปลูกสร้าง คือ ช.แมนชั่น เลขที่ 246/18 ดังกล่าว วันที่ 9 เมษายน 2558 และได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 819 วันที่ 22 เมษายน 2558 นั้น ปรากฏว่าวันที่ 5 พฤษภาคม 2558 จำเลยที่ 1 ชำระเงินจากรายได้ค่าเช่าอะพาร์ตเมนต์ ช.แมนชั่น ให้โจทก์ 10,000 บาท ต่อมาวันที่ 17 พฤษภาคม 2558 นาย ก. ถึงแก่ความตาย จากนั้นเดือนมิถุนายน 2558 จำเลยที่ 1 ยังคงชำระเงินจากค่าเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 819 ดังกล่าวให้แก่โจทก์ 20,000 บาท หลังจากนั้นไม่ชำระ การที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามบันทึกเรื่องทรัพย์สินท้ายทะเบียนการหย่าดังกล่าวเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการสุดท้ายว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 หรือไม่ และจำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเงินตามบันทึกเรื่องทรัพย์สินแก่โจทก์ เพียงใด เห็นว่า นาย ก. และโจทก์จดทะเบียนหย่าและทำบันทึกเรื่องทรัพย์สินวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 ต่อมาวันที่ 9 และ 22 เมษายน 2558 นาย ก. โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 7187 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และที่ดินโฉนดเลขที่ 819 ตามลำดับ ให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนที่นาย ก. จะถึงแก่ความตายวันที่ 17 พฤษภาคม 2558 ประกอบกับโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจากนาย ก. ซึ่งเป็นบิดา เพื่อให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามบันทึกเรื่องทรัพย์สินท้ายทะเบียนการหย่า มิได้ฟ้องคดีโดยใช้สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ต่อเจ้ามรดกอันมีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม ตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกา ซึ่งกฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ นอกจากนี้บันทึกเรื่องทรัพย์สินท้ายทะเบียนการหย่ากำหนดไว้ชัดเจนถึงวิธีการชำระเงินและจำเลยที่ 1 ก็เคยชำระเงินตามบันทึกดังกล่าวให้แก่โจทก์ ส่วนวันที่ 17 มีนาคม 2558 ที่นาย ก. ทำพินัยกรรมนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับทายาทนาย ก. ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องปฏิบัติตามบันทึกเรื่องทรัพย์สินท้ายทะเบียนการหย่าดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มีประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคแรก เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนแปลงจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับทั้งนี้ปัญหาการกำหนดดอกเบี้ยตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบ มาตรา 246 และมาตรา 252
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับดอกเบี้ยในต้นเงิน 380,000 บาท ให้คิดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใดก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ดอกเบี้ยเมื่อปรับเปลี่ยนแล้วต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 10,000 บาท แทนโจทก์